วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2567

Enneagram : แนวทางการเติบโตของชาวลักษณ์ 3(ผู้ใฝ่สำเร็จ) โดย พญ.ทานตะวัน

 

 

"เส้นทางการเติบโตของชาวลักษณ์ 3 (ผู้ใฝ่สำเร็จ)"

1. การฝึกที่จะทำอะไรให้ "ช้าลง-ผ่อนลง"
เพื่อเปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัส กับ
"อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการ" ภายใน
ที่ซ่อนอยู่

2. การหมั่นกลับมารับรู้ และ ใส่ใจธรรมชาติของจิตใจ และ ร่างกายบ่อยๆ

2.1 การกลับมารับรู้ และ ใส่ใจจิตใจ
ด้วยการหมั่นรับรู้ใจตนเองว่า
- ตอนนี้ใจรู้สึกอะไร
- ตอนนี้สมองคิดอะไร
- ตอนนี้ใจต้องการอะไร

การหมั่นมองเห็นสิ่งเหล่านี้
ช่วยให้รู้จักตนเอง
เช่น หมั่นเห็นความคิดที่ผุดขึ้นมา
หมั่นรับรู้อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
หมั่นรับรู้ความต้องการที่ผลักดันใจอยู่

2.2 การหมั่นกลับมารับรู้ และ ใส่ใจร่างกาย
เช่น รับรู้การหายใจ รับรู้การนั่งอยู่ รับรู้การเดินอยู่ รับรู้การกระทำอยู่ รับรู้การเคลื่อนไหว รับรู้การกินอยู่ รับรู้สุข-ทุกข์ ความสบาย ความไม่สบายของร่างกาย เป็นต้น ฯลฯ

การหมั่นรับรู้ ร่างกายและจิตใจบ่อยๆ นี้
เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้รู้จักตนเองตามสภาพจริงมากขึ้น

จะเพิ่มความรู้สึกใกล้ชิดกับตนเองมากขึ้น
จะเพิ่มความรู้สึกอบอุ่นจากภายในตนเองมากขึ้น

3. การหมั่นดูแลร่างกายและจิตใจด้วยความรักความเมตตา
เช่น
การออกกำลังกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพที่ดี
การมีเวลานอนหลับที่เหมาะสมกับการมีสุขภาพที่ดี
การทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
การพักผ่อนที่ดีต่อใจตนเอง
การหมั่นรับรู้ความไหว-ไม่ไหวของร่างกาย/จิตใจ
การหมั่นดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเหมาะสมในทุกวัน เป็นต้น

4. หมั่นเห็นคุณค่าสิ่งที่ทำ ด้วยสายตาของตนเองมากขึ้น
เช่น การ self-talk พูดคุยกับตนเอง ถึงคุณค่า ประโยชน์ของสิ่งที่เราทำ
เล่าให้ตนเองฟังว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่าอย่างไร
มีประโยชน์อย่างไร
ให้ตนเองได้รับรู้ รับฟัง
การ self-talk จะส่งผลกับจิตใจเราถึงในระดับจิตใต้สำนึก
จะช่วยให้ใจรับรู้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำ
โดยไม่ต้องผ่านจากคนอื่นอย่าง 100% แบบเดิม
หมั่นทำสิ่งนี้ จะช่วยให้ใจลดการโหยหาคำชื่นชมจากคนอื่น
ทั้งในระดับจิตสำนึก และ จิตใต้สำนึก
---------------------------------------------------------

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ใจชาวลักษณ์ 3
รู้จัก และ รัก ธรรมชาติตนเองอย่างที่เป็นได้มากขึ้น
และ
เห็นคุณค่า "การกระทำของตนเอง"
จาก "สายตาตนเอง" มากขึ้น

ความรู้สึกสั่นไหวจากสายตาคนอื่นจะลดลง
เพราะ มีที่ยืนในใจตนเองมากขึ้น

การได้มีช่วงเวลาในแต่ละวัน
ที่จะทำความรู้จักตนเอง
ที่จะรักตนเอง
ที่จะเห็นคุณค่าตนเอง
ที่จะสร้างความรู้สึกผูกพันกับธรรมชาติของร่างกายและจิตใจตนเอง
ที่จะเห็นคุณค่าสิ่งที่ตนเองทำด้วยสายตาตนเอง

การมีช่วงเหล่านี้ กับตนเองของชาวลักษณ์ 3
- จะช่วยให้ชาวลักษณ์ 3
ลดการแคร์สื่อ แคร์สายตา แคร์การยกย่องชื่นชมจากคนอื่นลงได้เป็นลำดับ
- จะช่วยให้ชาวลักษณ์ 3
รู้สึกรัก และ เห็นคุณค่า
ธรรมชาติของร่างกาย จิตใจ และ ชีวิตที่มีอยู่แล้วมากขึ้น

โดยไม่ต้องคอยผูกปิ่นโต เพิ่ม self-esteem
กับ การมีความสามารถ กับ การเป็นที่ชื่นชม กับ การประสบความสำเร็จในแบบเดิม

🙂 ❤ เพราะ ความรัก และ คุณค่า ของคน 🙂 ❤
มีหลายมิติ
มันไม่ได้มา
"จากสิ่งที่เรากระทำ/จากความสำเร็จที่น่ายกย่องชื่นชมจากคนอื่น/จากสิ่งต่างๆ ที่เราพยายามสร้างขึ้นมา"
เท่านั้น

บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#tumurinลักษณ์3ผู้เติบโต
#รู้จักตนเองและรักธรรมชาติในตนเองอย่างที่เป็น

-----------------------------------------------
#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#เข้าถึงคุณค่าของชีวิต
#ยิ่งโตยิ่งสุข
-----------------------------------------------
#enneagram
#นพลักษณ์
#ลักษณ์ไม่ใช่เรา
#เรียนนพลักษณ์เพื่อการเติบโต
#หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข

-----------------------------------------------------
เครดิตภาพ : https://store.line.me/stickershop/product/1246457/th

-----------------------------------------------------
- สามารถรับฟังเสียงบรรยายได้ทาง
https://www.youtube.com/watch?v=ZNej0NfHpyU

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2567

"สติ ช่วยลดความคิดปรุงแต่ง" ใจและสมองจึงเบาสบาย เมื่อมี“สติ”เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น โดย พญ.ทานตะวัน

 

 

"สติ ช่วยลดการปรุงแต่ง"

---------------------------------------
สติ ช่วยให้รู้ทัน "ความคิด"
ความคิดปรุงแต่ง
จึงสั้นลง ลดลง หรือ หายไป ณ ขณะที่มีสติ

ความปรุงแต่ง ทำให้ทุกข์เกินจริงไปอีกเบอร์หนึ่ง
(หรือ บางทีก็พาไปไกลอีกหลายเบอร์)

เมื่อความคิดปรุงแต่งลด
ความทุกข์ใจจึงลดลง 🙂

---------------------
ตัวอย่าง
ขณะที่กำลังคิดกังวล ไม่สบายใจ
เช่น กังวลเรื่องงาน กังวลเรื่องคน กังวลเรื่องความสัมพันธ์หรือ ปัญหาต่างๆ ฯลฯ

พอเกิดความรู้ตัว ว่ากำลังคิดมากอยู่

ความคิดมากในเรื่องนั้นก็หายไปขณะหนึ่ง
เพราะ สติ รู้ทันว่า "กำลังคิดมาก"

ใจกำลังกังวล เพราะ "ความคิด" ในสมอง

ความปรุงแต่งของใจ ก็หายไปขณะหนึ่ง

เรื่องราวในสมองลดลง
ใจ และ สมอง จึงเบาสบายขึ้น

และ ช่วยให้เรากลับมาเห็นสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงมากขึ้น

ไม่ได้เห็นไปตามที่ใจ และ สมอง ที่ปรุงแต่งไป
จนโลกเบี้ยวจากความเป็นจริง

การเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นด้วยใจที่เป็นกลาง
เป็นภาวะที่เรียกว่า "เกิดปัญญา"

"ความทุกข์" จากส่วนเกินที่ได้มาจากความปรุงแต่ง จึงลดลง

"สติ" จึงเหมือนแสงส่องนำทางชีวิต 🙂

สติมา ปัญญาเกิด
สติหาย จิตเตลิด
สติเกิด เพราะการฝึกฝน "เท่าทันความคิด"

บทความ โดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#เข้าใจโลกเข้าใจชีวิต
#เข้าใจธรรมชาติตัวเอง
#เข้าใจธรรมชาติคนอื่น
#ยิ่งโตยิ่งสุข

🙂 ท่านใดสนใจรับฟังบทความนี้
สามารถรับฟังได้ทางลิงค์นี้ค่ะ 🙂
https://youtu.be/qg4xVYkA9jU



วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2567

“Toxic Positivity” ภาวะบวกจนเป็นพิษ คืออะไร? และ แนวทางลดพิษ คือ อะไร? โดย พญ. ทานตะวัน

 

 
"Toxic Positivity"
(ภาวะบวกจนเป็นพิษ)

คำนิยามภาวะนี้ที่กล่าวโดย
Dr. Laura Gallaher
นักจิตวิทยาจากสถาบัน Gallaher Edge
กล่าวถึงอาการ Toxic Positivity ไว้ว่า
“ภาวะนี้ คือ อาการที่มองโลกในแง่ดีมากกว่าความเป็นจริง
จนไม่ตรงกับความเป็นจริง
หรือ ไม่สมเหตุสมผล
และ พยายามไม่รับรู้อารมณ์ลบ หรือ ความคิดในแง่ลบ
ของตนเอง และ ผู้เกี่ยวข้อง
เช่น ปฏิเสธการรับรู้ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกเสียใจ ความรู้สึกโกรธ ฯลฯ
จนนำไปสู่ปัญหาต่างๆที่ตามมามากมาย”

---------------------------------------

✍️ลักษณะของ Toxic Positivity มีดังนี้
1. พยายามหาเหตุผลมาอธิบายให้รู้สึกดี (Rationalization)
โดยไม่ได้รับรู้ความจริงว่า
คน หรือ สถานการณ์จริงตรงหน้า กำลังไม่โอเค

บางคนเหมือนวิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์ตลอด
สร้างอารมณ์ดี สดใส ร่าเริง ไว้ตลอด

ปัญหาคือ
ขาดการเห็นโลกตามความเป็นจริง
หลายเรื่องจึงขาดการรับรู้ว่า
คนที่อยู่ตรงหน้า
สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ
รวมถึงความรู้สึกของตนเองจริงๆ
เป็นอย่างไร

เพราะ ไปอยู่กับโลกในความคิด(บวก)ของตนเอง

การพยายามมองโลกให้สวย (กว่าความเป็นจริง)
จะไม่ได้แก้ไขปัญหา
เพราะ มองไม่เห็นปัญหา หรือ พยายามไม่เห็นปัญหา

เรื่องที่เป็นปัญหา ก็ยังเป็นต่อไป...

2. โทษผู้อื่น (Projection)
เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีกับตนเองต่อไป....

เช่น เมื่อมีเรื่องแย่ๆ เกิดขึ้น
มองว่าสิ่งแย่ๆ ล้วนเกิดจากคนอื่น/จากสถานการณ์
ไปจนถึง จากดินฟ้าอากาศก็มี

คือ ความไม่ดีล้วนยกให้เป็นจากทุกสิ่ง
ยกเว้น ส่วนจากตนเอง

ปัญหาคือ
ถ้าสิ่งนั้นจริงๆ มีส่วนจากตัวเรา
แต่เราไม่ได้เกิดการตระหนัก สำนึก
หรือ เรียนรู้ในส่วนที่ตนทำผิดพลาด

แต่ไปเฝ้าโทษคนอื่น สิ่งอื่นหมด
ไม่ได้พิจารณาส่วนจากตนเอง

ทำให้ตนเองขาดโอกาสเรียนรู้
เพื่อลดความผิดพลาดในครั้งต่อไป
รวมถึงขาดโอกาสพัฒนาตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

และ ทำให้ปัญหาที่เกิดจากตนเอง
ยังคงอยู่ในการสร้างปัญหาต่อไป...(แบบไม่รู้ตัว) ซ้ำๆ ได้

3. ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Lack of Empathy)

ภาวะบวกจนเป็นพิษ
จะมีอาการไม่แตะ ไม่สัมผัส ไม่รับรู้ ไม่ยอมรับ
ความรู้สึกด้านลบ โดยเฉพาะความรู้สึกทุกข์
หรือ ความรู้สึกที่ดูไม่เท่ ไม่คูล
เช่น ความรู้สึก เศร้า เสียใจ โกรธ เป็นต้น

ปัญหาคือ
ขาดความเข้าใจ ความรู้สึก และ อารมณ์ที่แท้จริง
ของผู้อื่น และ ของตนเองด้วย

ทำให้เสียคุณภาพการรับฟังที่ดี
ทำให้เสียคุณภาพในการใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์ไป
ทำให้เสียคุณภาพความเข้าใจผู้อื่น
ทำให้ปลอบใจใครไม่เป็น
ยิ่งปลอบ ทำให้เขารู้สึกแย่ลงกว่าเดิม
เพราะการปลอบใจใครได้ดี
เริ่มต้นจากการเข้าใจความรู้สึกเขาอย่างที่เขาเป็น
(ไม่ใช่อย่างทีเรายัดเยียดให้เขาเป็น)
ทำให้เสียคุณภาพความเข้าใจตนเองด้วย
เมื่อวันนึงต้องเผชิญกับความรู้สึกลบ
ที่ไม่สามารถหลบเลี่ยงได้
จะไปไม่เป็น อยู่ไม่ได้
เพราะไม่มีทักษะในการอยู่กับอารมณ์ด้านลบ
ไม่มีความเข้าใจอารมณ์ด้านลบ
ใจจึงขาดปัญญาทางใจ (wisdom)
ในการดูแลจิตใจอย่างเหมาะสม

4. บิดเบือนความจริง (Distortion)

ภาวะบวกจนเป็นพิษ
มองตนเองบวกมาก มองโลกบวกมาก
อวยตนเอง และ สิ่งที่ตนมีเกินจริง
จนเหมือนสร้างวิมานในอากาศ
เสมือนสะกดจิตหลอกตนเองไปวันๆ

ปัญหาคือ
นำมาสู่การหลงตัวเอง มองตัวเองแง่บวกเกินจริง

การมองตนเองในแง่ดีที่ healthy
คือ การเห็นตนเองดีตามจริง เน้น ตามจริง

แต่ภาวะบวกจนเป็นพิษ (toxic positivity)
คือ มองดีเกินจริง เน้น เกินจริง
อะไรที่ไม่สมจริง มักสร้างปัญหาได้เสมอ
เพราะ มุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆ ไม่ตรงกับความจริง
จึงมักจะสร้างปัญหา... มากกว่าจะแก้ปัญหา

5. การเพิกเฉย (Ignorance)

เหมือนซุกปัญหาไว้ใต้พรม
คือ ไม่รับรู้ ไม่ใส่ใจ ปล่อยปัญหาไว้ ไม่อยากแตะปัญหาใดๆ
เพราะ ไม่อยากไม่สบายใจ
เพราะ อยากจะสบายใจอยู่ตลอด
อยากรู้สึกเชิงบวกตลอดเวลา

ปัญหาคือ
ในความจริงปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว
ต่อให้ ไม่ใส่ใจ ไม่รับรู้
ปัญหาก็ไม่หายไป
และ จะทวีขึ้นเรื่อยๆ
เพราะไม่ได้ถูกจัดการอย่างเหมาะสม

6. การพยายามเปลี่ยนสถานการณ์ที่ผิดปกติให้เป็นปกติ (Normalize abnormal situations)

สถานการณ์จริง ไม่โอเคแล้ว
เช่น มีการทำร้าย การบูลลี่ การเอาเปรียบ การเบียดเบียนกัน การโกงกัน การโยนงานกัน เป็นต้น
แต่บอกตนเอง หรือ บอกคนอื่น
ว่า ไม่เป็นไร ไม่มีอะไร แค่นี้เอง
แต่จริงๆ คือ กำลังเดือดร้อนมาก เครียดมาก รู้สึกแย่มากๆ รู้สึก burnout หรือ กำลังพังมาก

ปัญหาคือ
ตนเอง หรือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง
จะเดื่อดร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ...
เพราะ ไม่ได้ทำสิ่งที่ถูกต้อง (right action)
ในการบริหารจัดการ แก้ไขให้เหมาะสม
เพราะ มัวแต่ไม่เป็นไร.... จนกลายเป็นบรรลัย...><"

7. การขาดความกล้าในการแสดงความคิดเห็น
(Lack of Assertiveness)

เพราะต้องการรักษาความรู้สึกเชิงบวก
หรือ กลัวเสียบรรยากาศเชิงบวกมาก

มากจนไม่กล้าแสดงความเห็นใดๆ ที่แตกต่าง
เกิดพฤติกรรมเออออ ห่อหมก ไปเรื่อยๆ
จนกลายเป็นความอึดอัด อัดอั้น
รวมถึงไม่กล้าขอความช่วยเหลือ
เพราะไม่อยากให้เกิดความรู้สึกไม่ดีใดๆทั้งสิ้น

ปัญหาคือ
อึดอัด อัดอั้น ปากไม่ตรงกับใจ
จนกลายเป็นความน้อยเนื่้อต่ำใจ หมดไฟ
หรือ สร้างระเบิดเวลาที่รอวันทิ้งบอม

----------------------------------------

#แนวทางลดภาวะบวกเป็นพิษ 🙂

🙂 1. ฝึกรับรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามจริง เน้น ตามจริง

โดยเฉพาะความรู้สึกด้านลบ
ที่มักจะหลบหลีก หลบเลี่ยง

การรับรู้ การฝึกเผชิญ ความรู้สึกเชิงลบ
ช่วยให้จิตใจ เข้มแข็งมากขึ้นอย่างแท้จริง

เพราะ การวิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์แบบออกมาไม่ได้
หรือ วาดวิมานในอากาศไปเรื่อยๆ
หรือ สะกดจิตโลกสวยไปวันๆ
(เพราะกลัวความจริง)

จะรังแต่ทำให้จิตใจอ่อนแอลง....
จนเปราะบาง
เหมือนแก้วบางๆ ที่พร้อมแตกได้ทุกเมื่อ
เป็นสภาพจิตใจที่อ่อนแออย่างมาก

การฝึกรับรู้อารมณ์ ความคิด
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามจริงไปเรื่อยๆ
ใจจะแข็งแรง แข็งแกร่ง อย่างแท้จริง
ไม่ต้องคอยหลบไปอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์
หรือ วิมานชูใจใดๆ

🙂 2. ฝึกสื่อสาร ฝึก constructive feedback
การสื่อสารที่เหมาะสม
เช่น การสื่อสารด้วยการใช้ I-message (บอก I feel, I think , I want.. )
หรือ การสื่อสารด้วยแนวทางการสื่อสารอย่างสันติ
(NVC, Nonviolent Communication)
จะช่วยให้สามารถสื่อสาร
ได้ตรงกับความรู้สึก ความต้องการที่แท้จริง
โดยไม่ได้ไปทำให้เกิดความเสียหาย

การสื่อสารแบบนี้
จะช่วยให้ตัวเรา ผู้พูด
ได้ฝึกเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของตนเอง
รวมทั้งผู้ฟัง
เข้าใจสิ่งที่เราต้องการสื่อได้ดี
และ ช่วยให้เขาเข้าใจเราได้ง่ายขึ้น
และ ตรงกับความจริงมากขึ้น

🙂 3. ฝึกสังเกต ในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม หรือ สิ่งผิดปกติ

เมื่อไหร่ที่เราต้องพูดว่า "ไม่เป็นไร"
ให้ตระหนักว่า มีความ "เป็นไร" เกิดขึ้นแล้ว
เราจึงต้องมาบอกตนเองว่า "ไม่เป็นไร"

ฝึกยอมรับ ความจริง ว่า "มันเป็นไร"
และ สิ่งที่แก้ไขให้ดีขึ้นได้ "ให้ลงมือจัดการ"

การปล่อยวาง กับ การปล่อยปละละเลยไม่เหมือนกัน
สิ่งจัดการแก้ไขได้ แต่ไม่ทำ
ไม่ใช่การปล่อยวาง เรียกว่า ปล่อยปละละเลย

🙂 4. ฝึกเข้าใจตัวเอง (ฝึก self-awareness)
และ ฝึกเข้าใจผู้อื่น (ฝึก empathy)

ฝึกเข้าใจความรู้สึก ความต้องการที่เกิดขึ้นจริง
ในเรา และ ผู้อื่น
จะทำให้หัวใจความเป็นมนุษย์คืนกลับมา
และ ปัญญาทางใจเติบโตขึ้นอย่างมาก
นำมาสู่การดูแลตนเอง และ ดูแลผู้อื่น
ได้อย่างดีขึ้นมาก
ชนิดหนังคนละม้วนเลย
กับตอนตกอยู่ในภาวะบวกเป็นพิษ

🙂 5. ฝึกมองโลกตามความเป็นจริง
การมองโลกที่ดีทีสุด คือ มองเห็นโลกตามจริง
โลกกลมๆ มีทั้งส่วนด้านบวก และ ส่วนด้านลบ
การมองโลกที่ดี และ healthy
คือ เห็นมันทั้ง 2 ด้าน
ตามที่มันเป็น เน้น ตามที่มันเป็น
ไม่ใช่อย่างที่เราอยากให้เป็น

การฝึกมองโลกแบบนี้
ช่วยเพิ่มปัญญาทางใจ
นำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ค่อยๆ ทุกข์น้อยลงอย่างแท้จริง

บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#เข้าใจธรรมชาติชีวิต
#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#ยิ่งโตยิ่งสุข

🙂 ท่านใดสนใจรับฟังบทความนี้
สามารถรับฟังได้ทางลิงค์นี้ค่ะ 🙂
https://youtu.be/GS29NWt9Nks