วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2566

เรียนรู้อยู่กับความกลัวด้วยความเข้าใจ

 






#เรียนรู้อยู่กับความกลัวด้วยความเข้าใจ


ในความจริงหนึ่งของชีวิต

มีสิ่งน่ากลัวมากมายอยู่จริง

และ ความกลัวช่วยให้เรารอด และ ผ่านสิ่งนั้นมาได้อย่างดีงาม
ด้วยการเตือนภัย ด้วยการให้เราระวัง ด้วยการให้เราคิดรอบคอบ
ด้วยการให้เราหลบเลี่ยงสิ่งนั้น เป็นต้น

และ มีสิ่งอีกมากมายที่ไม่ได้น่ากลัวในความเป็นจริง

แต่ความกลัวเป็นจากความคิดอัตโนมัติในหัวทำงานตีความไปเอง
รวมถึงเป็นความกลัวที่เกาะกุมหัวใจขึ้นมาอย่างจู่โจมก็มี

และ ความน่ากลัวในความคิด และในใจ
หลายครั้งกลับน่ากลัวกว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้า กลับน่ากลัวกว่าเหตุการณ์จริง

#ทางออกที่สำคัญ
คือ การลดการอยู่กับโลกความคิด และ มีวิถีลดการถูกครอบงำจากความรู้สึก
เราไม่สามารถลดความคิด และ ความรู้สึกได้โดยตรง
เพราะ ความคิด และ ความรู้สึกเป็นสิ่งธรรมชาติ เกิดตามเหตุปัจจัยเอง
แต่เราสามารถมีวิถีที่ช่วยลดดีกรีความรุนแรงของความคิด และ ความรู้สึกได้

#ด้วยการ
1. เมื่อกลัวหมั่นฟังว่าความกลัวกำลังบอกอะไรเราอยู่
เขากำลังห่วงใยเราบางอย่าง
เราฟังเขาดู และ พิจารณาว่า เขากำลังบอกอะไรเรา เขาอยากให้เราระวังอะไร เขาห่วงเราตรงไหน เขาอยากให้เราเป็นอย่างไร
ความกลัวบางทีแม้จะดูเหมือนน่ารำคาญไปบ้าง
หรือ ขว้างกั้นชีวิตเราไปบ้าง
แต่ภายใต้ความกลัว มีความปรารถนาดี มีความห่วงใย มีความอยากจะดูแลเรา ที่อยากจะเตือนเรา
เราลองฟังเขา ความกลัว เขากำลังบอกอะไรเรา
การรับฟังจะช่วยให้เราเข้าใจความปรารถนาภายในที่ซ่อนอยู่มากขึ้น
จะช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากขึ้น และ ช่วยให้เราดูแลตนเองดีขึ้น
หลายครั้งเรารอดมาได้จนถึงวันนี้ เพราะ มีความกลัวมาเตือนเรา

2. หมั่นฝึกเท่าทันความคิด โดยการเห็นความคิดเป็นความคิด หรือ ที่เรียกว่า การฝึกสติ เท่าทัน ความคิด
เรื่องจริงเป็นอย่างไร หลายครั้งยังไม่รู้
แต่ธรรมชาติของใจ จะอินกับสิ่งที่คิด ว่าสิ่งที่คิด คือ ความจริง
นั่นคือ อาการที่เรียก "หลงความคิด"

3. หมั่นฝึกที่ไม่ต้องเชื่อทุกสิ่งที่สมองมันคิด หรือ มันตีความ
เพราะ หลายครั้งสมองคิด หรือ ตีความไปเกินเบอร์เกินจริงไปมาก
จนหลุดออกจากความเป็นจริงไปไกลสุดกู่ก็มี

4. หมั่นฝึกเผชิญกับเหตุการณ์ที่มักกระตุ้นให้กลัวกังวล
ทั้งๆที่ถ้ามองมันดีๆ มันไม่ได้เป็นเหตุการณ์ที่ต้องกลัวกังวลขนาดนั้น
การมีประสบการณ์จริง หลายครั้งจะช่วยลดความกลัวเกินเหตุได้ พร้อมกับเห็นความสามารถของตนเองมากขึ้นว่า จริงเรามีความสามารถในการจัดการสถานการณ์นี้ได้
จะช่วยให้เห็นศักยภาพในตนเองตามเป็นจริงมากขึ้น
เพราะ หลายครั้งความกลัวกังวล ทำให้เรามองไม่เห็นความสามารถที่แท้จริงของตนเอง จนกระทั่งมีโอกาสลงมือทำจึงมองเห็น
(แต่ถ้าเหตุการณ์ที่น่ากลัวจริงๆ เช่น สู้กับจระเข้ เสือ หรือ การเดินในที่เปลี่ยวๆ ตอนกลางคืน ในซอยที่มีอาชญากรรมบ่อยๆ หรือ อื่นๆ ที่น่ากลัวจริงๆ ไม่ต้องไปลองเผชิญนะคะ เหตุการณ์แบบนี้ควรรู้จักระมัดระวังดูแลตนเองค่ะ)

5. หมั่นขยับร่างกาย
การขยับร่างกาย จะช่วยลดความคิดฟุ้งซ่าน
ความคิดฟุ้งซ่าน ปรุงแต่งต่อเติมนู่นนี่ในหัวเป็นเรื่อยๆ เป็นหนึ่งในสาเหตุของความวิตกกังวลโดยใช่เหตุ
ที่เรียกว่า อาการทุกข์ เพราะ ความคิดตนเอง

6. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ
จะช่วยทำให้ร่างกาย และ จิตใจแข็งแรงขึ้น อารมณ์แจ่มใสมากขึ้น และ ความเฉลียวฉลาดมากขึ้น จากเซลล์ในสมองทำงานดีขึ้น

7. การหมั่นฝึกสมาธิ
ใจที่มีสมาธิ จะช่วยให้ใจมีพลังมากขึ้น ช่วยลดความกลัว กังวลได้มากขึ้น

8. หมั่นฝึกมีความรัก ความเมตตาให้ตนเอง เป็นการเพิ่มกำลังใจดีๆ ให้กับตนเอง
กำลังความรักและเมตตาจากตัวเราเองจะช่วยให้เรามีกำลังใจดีๆ
ในการต่อสู้กับปัญหาได้มากขึ้น
รวมถึงการฝึกรักและเมตตาผู้อื่น
เพราะ พลังใจหลายครั้ง มาจากการที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น
เป็นความอิ่มอกอิ่มใจ
อย่างที่คำกล่าวหนึ่งบอกว่า "ความรัก มีพลังมากกว่า ความกลัว"

บทความโดย พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#เข้าใจธรรมชาติชีวิต
#ยิ่งโตยิ่งสุข

--------------------------------
- สามารถรับฟังเสียงบรรยายบทความนี้ได้ทาง
https://www.youtube.com/watch?v=I6mdKTBvN90