วันอาทิตย์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"การแคร์สื่อ (แคร์สายตาคนอื่น) ในแง่ทางจิตใจ เป็นสิ่งดีหรือไม่?" โดย พญ. ทานตะวัน

 

 

#คำถาม
"การแคร์สื่อ (แคร์สายตาคนอื่น ) เป็นสิ่งไม่ดีหรือไม่?"

#คำตอบ
การแคร์สายตาคนอื่น วิตกกังวลว่าคนอื่นมองเราอย่างไร ไม่ใช่สิ่งไม่ดี
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะใส่ใจสายตาของคนรอบตัว
ซึ่งมีส่วนดีนะคะ
เพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง
รู้จักใคร่ครวญ ทบทวน แก้ไขตนเอง

เพราะถ้าไม่มีความแคร์หรือใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย
จะทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม
เพราะ ไม่รู้ตัว จนเกิดผลเสียหายต่อตนเองและคนอื่นได้ และ ไม่รู้จักแก้ไข
(บางคนเอาแต่แก้ตัวไปวันๆ ซึ่งคนอยู่ใกล้ตัวจะมึน และ ปวดหัวมากค่ะ )

คนแคร์สื่อจึงมักเป็นคนที่น่ารัก (เพราะ ใส่ใจคนอื่น) แต่มักจะทุกข์ (โดยใช่เหตุ)

ดังนั้น ความวิตกกังวล การแคร์สื่อ จึงไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี หรือ น่ารังเกียจ
เพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเอง และ ต่อคนอื่นได้

#การกลับมาดูแลตนเองอย่างเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ

ถ้ามีอาการไม่มากเราสามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้ค่ะ
1. ด้วยการปรับทัศนะคติใหม่ กับตัวเอง
ฝึกมองตัวเองในแง่ดี เห็นคุณค่า และ เห็นข้อดีในตัวเอง
ถ้าเราเห็นคุณค่า เห็นคุณงามความดีในตนเอง เราจะมั่นใจในตนเองมากขึ้น
ความวิตกกังวล หวั่นไหว สายตาผู้อื่น จะลดลงค่ะ

เพราะ ส่วนใหญ่ แล้ว ความหวั่นไหว แคร์สายตาคนอื่นมากเกินไป จนเป็นทุกข์
เกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง

2. ฝึกมองสถานการณ์รอบข้างให้ตรงตามความเป็นจริง
โดยการมองอย่างมีสติมากขึ้น

#มองอย่างมีสติคืออะไร
คือ การฝึกรู้ทันความคิดด้านลบ เพราะหลายครั้งเราคิดมากไปเอง
จนทำให้เห็นแต่เรื่องแย่ๆ ของตนเอง และ สิ่งรอบตัวค่ะ
บางครั้งคิดไปตั้งเยอะแยะ เอาเข้าจริงๆ ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้สักอย่าง
หลายคนคงเคยมีประสบการณ์มาบ้างนะคะ

ลองฝึกรู้ทัน "ความคิด"
จะได้ไม่ตกเป็น "ทาสความคิด" ค่ะ

3. ฝึกร่างกายให้อยู่ในความผ่อนคลายมากขึ้น
ร่างกายที่สงบสบายจะช่วยให้ใจสงบสบายมากขึ้น
เช่น การกลับมารับรู้ลมหายใจ เข้า-ออก ช้าๆ สบายๆ
ประมาณ 1-2 นาที จะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายขึ้นได้ค่ะ

------------------------------------------------

#ถ้ามีอาการมาก
การพบผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ
เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาบำบัด
เป็นตัวช่วยหนึ่งที่ช่วยคุณได้
การพบจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา
ไม่ได้แปลว่า เป็นโรคทางจิต
เพียงแต่อาการทางจิตใจบางอย่าง จำเป็นต้องได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
และ บางครั้งอาการทางจิตใจส่งผลกับร่างกายด้วยค่ะ

ดังนั้นการพบผู้เชี่ยวชาญ จึงเป็นสิ่งดีๆที่เรามอบให้กับตัวเองค่ะ
เพราะ แปลว่าเรารู้จักดูแลตัวเองค่ะ 🙂

- สามารถรับฟังบทความนี้ได้ทางลิงค์นี้ค่ะ 🙂
https://youtu.be/ajPGMNm0tog

บทความโดย พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#เข้าใจธรรมชาติชีวิต
#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#ยิ่งโตยิ่งสุข 

วันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566

20 คำถามทบทวนตัวเองในช่วงท้ายปี เพื่อก้าวสู่ปีต่อไป อย่างสดใสกว่าเดิม

 

 

20 คำถามทบทวนตัวเองในช่วงท้ายปี
เพื่อก้าวสู่ปีต่อไป อย่างสดใสกว่าเดิม
1. ปีนี้เราค้นพบอะไรใหม่บ้าง และ อะไรเป็นเรื่องที่เราตกหลุมรัก
2. มีเรื่องประหลาดใจสักเรื่องไหม ที่ทำให้เรารู้สึกยินดี
3. สิ่งที่ทำสำเร็จ และ ทำให้เราภูมิใจตัวเองที่สุด คือ....
4. ปีนี้ซื้อของอะไรแล้วถูกใจที่สุด
5. นิสัย หรือ กิจวัตรประจำวันอะไร ที่เราทำได้ในปีนี้ แล้วมันช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเรา
6. มีปัญหา หรือ เรื่องอะไรบ้าง ที่เราเลือกเผชิญหน้า แทนที่จะเดินหนีแบบเดิม
7. เรื่องอะไรบ้างที่เราได้ขอความช่วยเหลือมาแล้ว เป็นสิ่งที่ดีในชีวิต (คือ ไม่ฝืนทำเองจนเกินไป)
8. ความสัมพันธ์กับคนรู้จักคนไหน ที่ทำให้เราทึ่งมากที่สุด
9. ใคร คือ คนที่เราอยากขอบคุณในปีนี้ (และ อย่าลืมไปขอบคุณเขาด้วยนะ)
10. กฎข้อไหนที่เราตั้งไว้ แล้วปีนี้เราทำได้ดี
11. เป้าหมายข้อใดที่ตั้งไว้ แล้วเลิกไประหว่างปี และ พบว่าดีใจที่เลิกเป้าหมายนั้น เพราะ มันอาจเป็นเป้าหมายที่ไม่ใช่ หรือ เป็นเป้าหมายที่ไม่ได้สำคัญ
12. ทักษะอะไรในตัวเรา ที่เรามั่นใจมากขึ้นในปีนี้
13. เรื่องธรรมดาที่ทำให้เราสุขได้เป็นพิเศษในปีนี้ คือ เรื่องอะไร
14. เป้าหมายอะไรบ้างของปีนี้ ที่ทำได้แล้ว หรือ ทำได้บางส่วน ลองจดออกมา
15. ปีนี้ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง และ ได้ผลออกมาดี
16. เราเปลี่ยนใจกับเรื่องอะไรในปีนี้
17. มีเรื่องอะไรในปีนี้ที่เราลองทำ แล้วไม่สำเร็จ แต่เราได้เรียนรู้จากกระบวนการที่เราทำ
18. มุมมองเกี่ยวกับตัวเองเรื่องไหนที่เปลี่ยนไป แล้วทำให้คุณยอมรับตัวเองอย่างที่เป็นได้มากขึ้น
19. รู้ตัวไหมว่า ปีนี้เรามีความคิดอคติกับเรื่องไหนบ้าง
(ปีใหม่อยากลองเลิกอคติกับเรื่องนั้นไหม...)
20. เรื่องอะไรที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วทำให้เรามีความสุขขึ้น...
เครดิตบทความ
1. จาก เพจ Mission to the moon https://www.youtube.com/watch?v=hmKkI-IqBNE
2. 20 Enjoyable End-of-Year Review Questions
by Alice Boyes Ph.D.
--------------------------------------------------
- สามารถรับฟังเสียงบรรยายบทความนี้ได้ทางลิงค์นี้ค่ะ 🙂


Enneagram: สามเหลี่ยมอุดมคติในศาสตร์นพลักษณ์ และ แนวทางการเติบโตของชาวสามเหลี่ยมนี้ โดย พญ.ทานตะวัน

 

 

#เรื่องของชาวสามเหลี่ยมอุดมคติ

ได้พูดถึงไปแล้ว 2 กลุ่ม
คือ
กลุ่ม 1 สามเหลี่ยม adaptation
สามเหลี่ยมแห่งการปรับตัวกับบริบท ลักษณ์ 3 ลักษณ์ 6 และ ลักษณ์ 9

กับ
กลุ่ม 2 สามเหลี่ยมอำนาจ
ลักษณ์ 2 ลักษณ์ 5 และ ลักษณ์ 8

(สามารถอ่านบทความใน
สามเหลี่ยม 2 กลุ่มแรก
ในลิงค์ข้างล่างบทความนี้ค่ะ )

-----------------------------
บทความนี้จะพูดถึง
สามเหลี่ยมสุดท้าย คือ
สามเหลี่ยมอุดมคติ
ลักษณ์ 1 ลักษณ์ 4 และ ลักษณ์ 7

เนื่องจากทั้ง 3 ลักษณ์ ให้ความสำคัญกับอุดมคติ....
สิ่งที่ดีที่สุด......

มีความฝันอันสวยงามเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับชีวิต

จึงมักจะอยู่กับภาพฝัน
(และมักเป็นภาพฝันอันสูงสุดด้วย)

ดังนั้นทั้ง 3 ลักษณ์
จะอยู่กับความเป็น"จริง"..ได้ยาก
(เพราะสิ่งที่มีอยู่จริง มักไม่สวยเหมือนภาพที่เขาวาดฝันไว้)

ความจริงที่เขารับรู้
เกี่ยวกับตัวเอง
เกี่ยบกับคนอื่น
ทั้งคนใกล้ตัวและไกลตัว
และ สังคม

หลายครั้งมันไม่ดี และ ไม่สวยงามเหมือนที่เขาฝันไว้
จึงมักมีลักษณะปฏิเสธความจริงที่อยู่ตรงหน้า

ด้วยการหนี
ในรูปแบบต่างๆ ตามศูนย์

เป็นการดิ้นรนเพื่อพยายามจะไปให้ถึงอุดมคตินั้น
ไปให้ถึงความ
"ความสมบูรณ์แบบ"
"สมบูรณ์พร้อม"
"ความล้ำเลิศ สุดเจ๋ง และ จนต้องร้องว้าว"
ที่เขาฝันไว้

ลักษณ์ 1 ศูนย์ท้อง
อุดมคติทางการกระทำ
หนีความเป็นจริง
หนีธรรมชาติของตนเอง
ที่มองว่า 'ไม่ควร' 'ไม่เหมาะ'
ด้วยการกระทำ
และ การควบคุม ที่เข้มงวด
ในสิ่งที่คิดว่า 'ควร หรือ เหมาะ'
เพื่อให้ถึงความเป็นอุดมคติ....

อุดมคติที่ ลักษณ์ 1 ให้ความสำคัญคือ ความ"ดี"
เขาจึงผูกมัดตัวเองไว้ กับ ความ"ดี"
เช่น ทำอะไรก็ต้องทำให้ดี
เป็นลูกก็ต้องเป็นลูกที่ดี
เป็นแฟนก็ต้องเป็นแฟนที่ดี
เป็นคนก็ต้องเป็นคนที่ดี เป็นต้น

เขาจึงมีการควบคุมตัวเองและใส่ใจกับกระทำที่ถูก.. ที่เหมาะ.. ที่ควร.... ที่ต้องทำ...
... เพื่อไปให้ถึง
อุดมคติที่ตนเองมองว่า "ดี"
ว่า "สมบูรณ์แบบ"
หลายครั้งไปไม่ถึง
เพราะอุดมคติมันคืออุดมคติ
เลยรู้สึกเหมือนไม่"ดีพอ"สักที

ลักษณ์ 4 ศูนย์ใจ
อุดมคติทางใจ
หนีความจริงไปหาอุดมคติทางใจ ทางความรู้สึก
ซึ่งอุดมคติทางใจ
คือ ความ "งาม"
ซึ่งบางทีก็ตอบไม่ได้ว่า
คือ อะไร
แต่ใจอยากถึงความรู้สึกที่เป็นอุดมคตินั้น
เลยรู้สึกขาดพร่อง....
และ
อาจพาลโกรธ และ เศร้า กับ
สิ่งต่างๆรอบตัวได้ง่ายด้วย
เมื่อเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่
ไม่ใช่อีกแล้ว
เช่น เขาอาจจะรู้สึกว่า
คนเหล่านี้
ระบบนี้เป็นสาเหตุ
ทำให้ชีวิตเขาไม่สวยงามสักที
(และ บางทีอาจจะมองตัวเองเป็นเหยื่อด้วย)
คือ ไม่ตัดพ้อตัวเอง
ก็ตัดพ้อคนอื่น
แล้วใจโหยหาไขว่คว้าไปเรื่อยๆ
แต่หลายครั้ง
พบว่าพอได้มาจริงๆก็รู้สึกว่าไม่่ใช่ก็มี(บ่อย)

เพราะหลายครั้งพอเข้ามาใกล้ๆ
เห็นใกล้ๆ ก็รู้สึกว่ามันไม่สวยอย่างที่เคยฝันอย่างที่จินตนาการไว้
ก็จะผลักออกไป
แล้วโหยหา
อุดมคติต่อไปไม่สิ้นสุด

ลักษณ์ 7 ศูนย์หัว
อุดมคติทางความคิด
จะหนีออกจากความจริง
ไปทางความคิด
ไปสู่ความคิด
ไอเดียบรรเจิดที่ชวนหลงใหล
ในอุดมคติ
ชวนให้รื่นรมย์
ด้วยจินตนาการเพลิดแพร้ว
และ เต็มไปด้วยสีสันที่น่าสนใจ

เพื่อทำให้เขาหนีออกจากความจริงที่แสนจะน่าเบื่อได้

ความจริงที่หลายครั้ง
เขาเริ่มเห็นจากตัวเอง
คนอื่นและ เรื่องรอบๆตัว
ทำให้หลายครั้งลักษณ์ 7

ใช้เหตุผลเพื่อบอกให้ตัวเอง
ยังรู้สึกดีกับตัวเอง
กับสิ่งที่เขามี
ตามภาพที่เขาฝันไว้

คำว่าอุดมคติ เป็นสิ่งสวยงามมาก
แต่เสียอย่างเดียว
คือ หลายครั้งมันไม่มีอยู่จริง
เพราะมันคือ "ฝัน"

ดังนั้น
ทั้ง 3 ลักษณ์
หลายครั้งไม่เคยรู้สึกถึง
"สมบูรณ์พร้อม" และ "เต็มอิ่ม" นั้นในชีวิตจริงของตัวเองสักที
ความรูัสึกภายใน
คือ จึงโหยหา.... แสวงหา.... อยู่ตลอดเวลา
หลายครั้งทำให้เขาเหนื่อย.....

เพราะ ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ
และ พอใจกับสิ่งที่มีได้อย่างเต็มที่
และ หลายครั้งเขามักจะเจ็บปวด จิตตก หรือ เศร้าหมอง
กับ ความจริงที่มันปรากฏขึ้น
ทั้งในตัวเอง คนอื่น และ สังคม

ที่มันไม่ดีและไม่สวยงามเหมือนอย่างที่เขาฝันไว้

--------------------
#ความเข้าใจอุดมคติ

คำนิยามของคำว่า อุดมคติ
คือ จินตนาการที่ถือเอามาตรฐาน
คือ ความดี ความงาม ความจริง เป็นจุดหมาย

อุดมคติที่มักใฝ่ฝันไปให้ถึง คือ "ความดี" กับ "ความงาม"

แต่อีกอุดมคติที่มักถูกปฏิเสธคือ "ความจริง"

จึงทำให้เกิดการโหยหาไม่มีที่สิ้นสุด
เพราะ ความดี กับ ความงาม
ที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความจริง
คือ ภาพลวงตาชนิดหนึ่ง
คือ การปรุงแต่งชนิดหนึ่ง :)

#การคลี่คลายจากอุดมติเพื่อเติบโตในชีวิตจริง

ชาวสามเหลี่ยมนี้จะเต็มสมบูรณ์ได้ เมื่อ เข้าถึงอุดมคติสุดท้าย
คือ "ความจริง"

การฝึกชื่นชมสิ่งที่มี
การฝึกยอมรับความเป็นจริง

คือ หนทางการเติบโตชาวสามเหลี่ยมอุดมคติ :)

----------------------------------
ขอเชิญเพื่อนๆ FB ลักษณ์ 1,4 และ 7 ร่วมแบ่งปันนะคะ
ขอบคุณค่ะ

บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

- สามารถรับฟังเสียงบรรยายบทความนี้ได้ทางลิงค์นี้ค่ะ
:) https://youtu.be/oD5PoOofekc

#enneagram
#นพลักษณ์
#ไม่มีลักษณ์ไหนดีกว่าลักษณ์ไหน
#ทุกลักษณ์ดีหมดเมื่อเติบโต
#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#ยิ่งโตยิ่งสุข
---------------------------
-----------------------------
เครดิตภาพ :
https://medium.com/@jenn_whitmer/managing-expectations-finding-your-enneagram-number-54f3e4f1178e

-------------------------------
1. สามเหลี่ยมปรับตัว (3,6,9)
ติดตามอ่านได้ในบทความนี้ค่ะ
https://web.facebook.com/Dr.Tantawan/photos/a.689081759247055/683684263120138

2. สามเหลี่ยมอำนาจ (2,5,8)
ติดตามอ่านได้ในบทความนี้ค่ะ
https://web.facebook.com/Dr.Tantawan/photos/a.689081759247055/685192969635934



วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566

Enneagram: เรื่องของสามเหลี่ยมอำนาจในศาสตร์นพลักษณ์ และ แนวทางการเติบโตของชาวสามเหลี่ยมนี้ โดย พญ.ทานตะวัน

 

 

บทความก่อนได้พูดถึง
กลุ่มที่ 1
คือ สามเหลี่ยม adaptation
คือ สามเหลี่ยมแห่งการปรับตัวกับบริบท
(ลักษณ์ 3 ลักษณ์ 6 และ ลักษณ์ 9)
(ท่านใดสนใจเรื่องราวของชาวสามเหลี่ยมปรับตัว
ได้แปะลิงค์ไว้ใต้บทความนี้ค่ะ)
--------------------------------
ในบทความจะพูดสามเหลี่ยมต่อไป
คือ สามเหลี่ยมอำนาจ
คือ ลักษณ์ 2 ลักษณ์ 5 และ ลักษณ์ 8
สามเหลี่ยมอำนาจ
เป็นเรื่องความรู้สึก เหนือกว่า... ค่ะ
🙂 ลักษณ์ 2 เป็นอำนาจแบบศูนย์ใจ
เป็นอำนาจใจ
การได้ใจคนพิเศษ
การให้
การดูแล....ที่มากมาย
จนคนพิเศษรู้สึกว่าขาดคนลักษณ์ 2 ไม่ได้
เป็นอำนาจการเข้าครอบครองใจ
เป็นอำนาจของการได้
(ยึดกุม)หัวใจ
ด้วยกลยุทธ์
ใจแลกใจ
รักแลกกับรัก
🙂 ลักษณ์ 5 เป็นอำนาจแบบศูนย์หัว
คือ อำนาจข้อมูล
เขาจะรู้สึกถึงความเหนือกว่า
และภูมิใจตัวเอง
ในแง่ที่เขามีข้อมูลเยอะกว่า... ความรู้เยอะกว่า... ลึกซึ้งกว่า... รอบรู้กว่า.... รู้รอบด้านกว่า... แม่นยำกว่า....
รวมทั้งคนอื่นก็รู้เกี่ยวกับเขา
น้อยกว่าที่รู้เกี่ยวกับคนอื่น
การเก็บงำและการมีข้อมูลไว้มากมาย
ทำให้อำนาจแบบศูนย์หัว
รู้สึกมีพลังและเพิ่มคุณค่าในตัวเอง
🙂 ลักษณ์8 เป็นอำนาจแบบศูนย์ท้อง
เป็นอำนาจที่แสดงออกมาตรงๆ ผ่านทางร่างกาย ท่วงท่า น้ำเสียง และ ทางการกระทำ
(สไตล์ศูนย์ท้อง คือ
การแสดงออกจะตรงไปตรงมา ตามสัญชาติญาณ)
บุคลิก สีหน้า น้ำเสียงเด็ดขาด ทรงพลัง
มีความเป็นตัวของตัวเองสูง(มาก)
ท่วงท่าที่แข็งแกร่งดังหินผา
รัศมีทรงพลังดั่งราชสีห์
น้ำเสียงก้องกังวาลดั่งสิงโตคำราม
ลักษณะการแสดง
เป็นแบบตรงๆ
คือ สู้... ลุย.. สั่งการ..
ต่อต้าน....
หรือ เข้าไปจัดการ...
หรือ ไปต่อกรกับอำนาจมิชอบ
(ในมุมมองของตนเอง)
เพื่อปกป้อง....
เพื่อครอบครอง...
เพื่อควบคุม....
เพื่อเอาให้อยู่หมัด...
เพื่อประกาศศักดิ์ศรี...
- ในสามเหลี่ยมอำนาจ ทั้ง 3 ลักษณ์ เนื่องจาก
การวางตนว่าสามารถดูแลตนเองได้ดีกว่า....
(แฝงความรู้สึกว่าเราเหนือกว่า...)
- ทำให้ไม่สามารถแสดงความต้องการที่แท้จริงๆออกมาได้
โดยเฉพาะมุมที่ตนรู้สึกว่ากำลังอ่อนแอ
และ
ต้องการความช่วยเหลือ (แล้ว)....
- ทำให้ลึกๆบางครั้งเหมือนรู้สึกว่า
ไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่น
ในระดับลึกๆได้
- ทำให้รู้สึกว่าเหมือนมีอะไรคั่นระหว่างเรากับคนอื่น
โดยเฉพาะกับคนสำคัญ/คู่กรณี
ซึ่งสิ่งที่คั่นกลางอยู่นั้นมาจากชาวสามเหลี่ยมอำนาจคั่นไว้เอง
(ทั้งโดย conscious และ โดย unconscious)
- ทำให้บางครั้งรู้สึกเหมือนตัวเองแปลกแยก lonely ห่างเหิน
บางครั้งถึงกับรู้สึกเหมือนตนถูกโดดเดี่ยว
ถูกทอดทิ้งจากคนอื่น
❤ "การรับรู้ และ ยอมรับตนเอง"
ในช่วงที่มีความเปราะบาง
❤ การฝึกร้องขอความช่วยเหลือผู้อื่นเป็น ฝึกฝนการร้องขออย่างเหมาะสม (เช่น หลักการการร้องขอแบบ NVC เป็นต้น)
❤ การหมั่นวางตนเสมอคนอื่น
❤ การฝึกวางผู้อื่นเสมอตน
😊 จะช่วยลดอำนาจที่เป็นพิษลง
😊 จากใจที่ "อ่อนโยน"
กับตนเอง และ ผู้อื่น
😊 นำมาสู่การเข้าถึงอำนาจภายในตนที่มีพลังและมั่นคงแบบไม่ต้องประเมิน power ตนกับผู้คน
(คนอื่น/คู่กรณี/คนสำคัญ (other))
ขอเชิญเพื่อนๆ ลักษณ์ 2 ลักษณ์ 5 ลักษณ์ 8
ร่วมแบ่งปันกันนะคะ
ขอบคุณค่ะ
บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

เครดิตภาพ : https://medium.com/@jenn_whitmer/managing-expectations-finding-your-enneagram-number-54f3e4f1178e

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

Enneagram: รู้จักสามเหลี่ยมปรับตัวในศาสตร์นพลักษณ์ และ แนวทางการเติบโตของชาวสามเหลี่ยมนี้ โดย พญ.ทานตะวัน

 

 

#เรื่องของชาวสามเหลี่ยมปรับตัว

ในศาสตร์นพลักษณ์ได้แบ่ง 9 ลักษณ์ออกเป็น 3 กลุ่ม
ในบทความนี้จะกล่าวถึงกลุ่มแรก

กลุ่มที่ 1 สามเหลี่ยมปรับตัว (adaptation)
คือ สามเหลี่ยมใส่ใจการปรับตัวกับบริบทค่ะ

กลุ่มนี้ ประกอบไปด้วย ลักษณ์ 3 ลักษณ์ 6 และ ลักษณ์ 9
ความใส่ใจอยู่กับการปรับตัวกับบริบท

โดย
🙂 ลักษณ์ 3 ปรับตัวแบบศูนย์ใจ
ให้เข้ากับสังคม ด้วยการได้ใจคนในสังคม
โดยการกระทำให้เป็นที่ยอมรับของคนสังคม

🙂 ลักษณ์ 6 ปรับตัวแบบศูนย์หัว
โดยการใช้ความคิด คาดการณ์สิ่งต่างๆ
เพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างปลอดภัย
โดยใช้ความคิด คาดการณ์ล่วงหน้า
เพื่อเตรียมตัว เตรียมพร้อม ในการระวังเภทภัย
เพื่ออุดรอยรั่ว
เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ที่จะเกิด

🙂 ลักษณ์ 9 ปรับตัวให้เข้ากับสังคมแบบศูนย์ท้อง
คือ ปรับตัวทางการกระทำ
คือ ปรับตัวให้เข้ากับคนอื่น กลมกลืน ไม่ขัดแย้ง
จะได้อยู่ร่วมกันกับคนอื่นในสังคมในบริบทได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องมีปัญหากัน
หรือ บางครั้งปรับตัวโดยการหลีกเลี่ยง (avoid) หลบ/หนีปัญหา
เพื่อไม่ให้กระทบกระทั่งกับใคร

😊 ถึงจุดหนึ่ง 3 ลักษณ์นี้
อาจหาตัวเองไม่เจอ หมายถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ความเป็นตัวเองที่แท้
เพราะไปพะวงกับบริบทมากไป
ซึ่งหลายครั้งชีวิตอาจสับสน หรือ รู้สึกเหนื่อยกับจุดนี้ได้
ทั้ง 3 ลักษณ์นี้ เสียงภายนอก มักดังกว่าเสียงภายในของตนเองเสมอ

***สิ่งสำคัญสำหรับคนในสามเหลี่ยมนี้***
คือ

❤ สามเหลี่ยมนี้ เป็นสามเหลี่ยมที่หา "ตนเอง"ไม่ค่อยเจอ
เพราะ เสียงภายนอกมีอิทธิพลกับใจมาก
จึงต้องกลับมาหา "ตนเอง" ให้เจอก่อน
ไม่อย่างนั้นจะมึนกับการความคาดหวังและแรงกดดันจากบริบทมากค่ะ 🙂

❤ การหมั่นฟังเสียงภายในของตนเองว่า
ตนเองต้องการอะไร
อยากทำอะไร
ทำไปเพื่ออะไร
และ
อยากเห็นตนเองเป็นอย่างไร
รวมถึง
การหมั่นกลับมาทบทวน
คุณค่าที่แท้จริง
ที่มีอยู่แล้ว
และ ที่ปรารถนาจะมีคืออะไร

คือ กระบวนการขั้นต้นที่สำคัญในกลับมาทำความรู้จักกับตนเอง

❤ การหมั่นรับรู้ "ความรู้สึก" ที่เกิดขึ้น
การหมั่นรับรู้ว่า "ใจกำลังรู้สึก" อะไร
คือ การ "หาหัวใจตนเองเจอ" ในแต่ละขณะ

เพราะ ความรู้สึก
คือ ข้อความของหัวใจ

การหมั่นฟังว่า ขณะนี้หัวใจ
กำลังรู้สึกอะไร
คือ
การฟังว่าหัวใจกำลังเป็นอย่างไร
และ กำลังบอกอะไรเรา

เป็นการกลับมาใส่ใจสารทุกข์สุขดิบที่เกิดขึ้นในใจเรา
เป็นช่วงเวลาที่ดีต่อใจ
เป็นความห่วงใย และ เอื้ออาทร
และ ช่วยให้ชาวสามเหลี่ยมปรับตัวรู้จักตนเองมากขึ้นมากๆ

เพราะ ความคิดอาจหลอกเรา
แต่ความรู้สึกไม่เคยหลอกใคร (ของจริงมากๆ)

❤ การหมั่นฟังเสียงตนเองบ่อยๆ
เสียงภายในตนเองจะเริ่มดังขึ้นๆ
และ จะมีพลังกว่าเสียงจากภายนอกได้ในวันหนึ่ง

และ เป็นพลังที่แท้จริง
ที่มั่นคงกว่าการได้รับการยอมรับจากคนข้างนอกค่ะ

❤ สามเหลี่ยมนี้
หลายครั้้งเข้าใจว่าตนเองปล่อยวางได้
เพราะไม่ได้ยึดตนเอง
(แต่จริงๆ คือ ยึด ยึดที่จะไม่ยึดตนเอง
เป็นความยึดที่ใหญ่มากอันหนึ่่ง)

การจะปล่อยวางได้อย่างแท้จริง
ต้องหา "ตนเอง" ให้เจอก่อน
หาความหวัง ความปรารถนาที่แท้จริงให้เจอ

จึงจะปล่อยวาง "ตนเอง" ตัวจริงลงได้ค่ะ 🙂

เชิญชวนเพื่อนๆใน FB แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้กันได้นะคะ

ขอบคุณค่ะ

บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

- สามารถรับฟังเสียงบรรยายบทความนี้ได้ทางลิงค์นี้ค่ะ 🙂
https://youtu.be/91szagjHirE

#enneagram
#นพลักษณ์
#ไม่มีลักษณ์ไหนดีกว่าลักษณ์ไหน
#ทุกลักษณ์ดีหมดเมื่อเติบโต
#เข้าใจธรรมชาติจิตใจ
#ยิ่งโตยิ่งสุข
----------------------------- 

--------------------------------------------- เครดิตภาพ : เอ็นเนียแกรมจากลิงค์นี้ค่ะ
https://medium.com/@jenn_whitmer/managing-expectations-finding-your-enneagram-number-54f3e4f1178e