วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (Survivor guilt)

จากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเรือล่มที่ประเทศเกาหลี
นำความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างมากมายทั้งกับคนเกาหลี และ คนทั่วโลก ที่เฝ้าติดตามดูข่าว

และหลายคนคงได้ยินข่าวที่สะเทือนใจอีกข่าวหนึ่งตามมา เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ของ รองผอ. โรงเรียนมัธยมทันวอน ผูกคอตายใกล้กับศูนย์ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ "เซวอล" ล่ม

รอง ผอ. เป็น 1 ในผู้รอดชีวิต ซึ่งได้เขียนจดหมายลาตาย ถึงพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กๆในโรงเรียนที่เสียชีวิต ด้วยความรู้สึกผิดกับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามข้อความในจดหมายที่เขียนดังนี้
“ถึงคุณพ่อ คุณแม่ โรงเรียน เด็ก ๆ และผู้ปกครองทุกท่าน ผมขอโทษ ผมลำบากใจเหลือเกินกับการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ยังมีอีกกว่า 200 ชีวิตที่ยังไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง ผมจะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ผมขอให้เผากระดูกของผม และนำเถ้ากระดูกไปโปรยบริเวณที่เรือจม เพื่อให้ผมจะได้ไปทำหน้าที่ครูให้กับเด็ก ๆ ที่เสียชีวิตอีกครั้งในโลกหลังความตาย"

โดยก่อนหน้านี้ แหล่งข่าว รายงานว่า ก่อนที่ รองผอ. คัง มินกยู จะฆ่าตัวตาย ได้พูดซ้ำๆว่า “ทำไมฉันรอดอยู่คนเดียว”

ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นของ รอง ผอ. คือ ความรู้สึกผิดของเขาที่มีต่อการตายของเด็ก ต่อผู้ปกครอง กับเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์นี้ เราลองมาทำความรู้จักภาวะนี้ ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต(survivor guilt ) ในแง่มุมทางจิตวิทยา กันนะคะ

ภาวะนี้ได้ถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากจดหมายของผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ทหารนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต พบได้ไม่น้อย สามารถพบได้ถึง ร้อยละ 30 ในจำนวนผู้รอดชีวิตทั้งหมด

อะไรที่ทำให้ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเกิดความรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้รอดชีวิต
ทั้งที่ลึกๆแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตาย
ทุกคนต้องการมีชีวิตอยู่ ยิ่งในวินาทีที่คับขันต่อความเป็นความตาย ทุกคนต้องการที่จะมีชีวิตรอด
แต่อะไรที่ทำให้เขารู้สึกผิดเมื่อเขาได้กลายเป็นผู้มีชีวิตรอด และ รู้สึกอยากตายมากกว่าอยากจะมีชีวิตต่อไป
บางคนจะเฝ้าพร่ำบ่น หรือเฝ้าครุ่นคิดซ้ำๆว่า
ทำไมฉันถึงรอด? ในขณะที่คนอื่นตาย
หรือ ทำไมฉันไม่ได้รับบาดเจ็บ? ในขณะที่คนอื่นตาย หรือ พิกลพิการ
หรือ ทำไมฉันถึงไม่ทำอย่างนั้น ? เพื่อจะได้ช่วยคนอื่นได้
หรือ ทำไมฉันไม่ตายแทนคนนั้นไปซะ?
หรือ ทำไมเขาต้องมาตายแทนฉันด้วย?

ความรู้สึกผิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน เหล่านี้คือ เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนี้ได้ค่ะ
1. เขารู้สึกว่าตนเป็นสาเหตุหลักทำให้คนตาย
2. เขารู้สึกว่าตนได้ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไป จนทำให้คนตาย หรือ บาดเจ็บ
3. เขาคิดว่าเขาน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพื่อช่วยให้คนรอดได้ แต่ตอนนั้นเขากลับไม่ได้ทำ
จึงเกิดความรู้สึกผิดติดค้างในใจ
4. มีคนตายหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยเหลือเขา หรือ ตายแทนเขา
5. เขาอยู่ในสถานการณ์ตัดสินใจช่วยบางคน และ ปล่อยให้บางคนตาย

ซึ่งทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา อาจเป็นเรื่องจริงที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ
แต่หลายครั้งกลับพบว่าเป็นความรู้สึกที่เขาคิดไปเองเกินเหตุก็มี

6. บริบทของสังคม ที่กระตุ้นภาวะนี้
6.1 วัฒนธรรมในสังคม ที่ให้ความสำคัญ และเรียกร้องต่อการรับผิดชอบต่อส่วนรวม
6.2 มีแรงกดดัน ตำหนิติเตียน จากคนรอบข้าง จากคนในสังคม

ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้ บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้

1. คนที่มีคุณธรรม (moral)
คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรมไม่ว่าทำอะไรลงไป เดือดร้อนคนอื่นแค่ไหน ไม่มีทางที่เขาจะรู้สึก รู้สึกผิดได้เลย เนื่องการพัฒนาทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็กทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่สามารถรู้สึกผิดบาปหรือละอายใจกับการกระทำผิดของตนได้
เพราะ ความรู้สึกผิดจะแปรผันตามกับเรื่องการมีคุณธรรมประจำใจ ถ้ายิ่งมีคุณธรรมประจำใจมาก ความรู้สึกผิดก็ยิ่งมีปริมาณมาก

2. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ (responsibilty) ต่อพฤติกรรมของตน 
รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตนต่อส่วนรวม (accountability)

3. เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องช่วยคนอื่น (altruism)
ตามปกติทุกคน พัฒนาการทางจิตใจวัยเด็กแรกเกิดของชีวิต จะมีลักษณะนึกถึงตนเอง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง
แต่เมื่อเด็กๆได้เติบโตมีการเลี้ยงดูที่ดี จะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมมากขึ้น ความรู้สึกนึกถึงตนเองจะลดลงและพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกถึงคนอื่นได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดอยากช่วยคนอื่นและอยากเสียสละเพื่อผู้อื่น
ซึ่งอย่างเหตุการณ์เรือล่ม จะเห็นว่า มีฮีโร่มากมายที่ยอมเสียสละตนเอง
(บางคนถึงกับเสียชีวิต) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดชีวิต

4. เป็นคนที่สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ (empathy)
คนที่สามารถรับรู้และเข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวด ของผู้อื่นได้ เมื่อเห็นคนที่มีความลำบาก จะกระตุ้นความอยากช่วยเหลือของเขา

ซึ่งความรู้สึกผิดเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้
แต่คนที่จะมีความรู้สึกผิดได้มากจนเกิดโทษคือ

1. เกิดจากบุคลิกที่ชอบตำหนิตัวเอง (self- criticism)
ในคนที่มีบุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มักมีแนวโน้ม เพ่งโทษตัวเอง เห็นข้อลบของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมักหันเข้ามาคาดโทษ และ ตำหนิตนเองไว้ก่อน

2. คนที่ให้อภัยตนเองได้ยาก มีระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากเกินไป จนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถให้อภัยตนเองได้เลย

3.เป็นคนขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าดีก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย ถ้ามีผิดไปนิดนึงจะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด คือ มีลักษณะมองอะไร เป็นขาวหรือดำเท่านั้น ไม่สามารถมองอะไรเป็นสีเทาๆได้

ผลจากความรู้สึกผิดที่มีปริมาณมากเกินไป
ความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องไม่ดี อย่างที่กล่าวไป คนที่รู้สึกผิดเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคนดี
และความรู้สึกผิดทำให้เราอยากปรับปรุงตัว ทำอะไรที่ดีๆมากขึ้น

แต่การที่รู้สึกผิดมากไป อาจเกิดโทษได้อย่างมาก
1. อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ได้

2. ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ต้องการลงโทษตัวเอง
ในบางคนที่แม้ไม่ได้กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกังวล
แต่ไม่สามารถมีความสุขในชีวิตตนเองได้อีกเลย บางคนจะมีความสุขก็รู้สึกละอายใจ จึงต้องทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจตลอด หรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่ตลอด ไม่อยากให้เห็นตนเองดีขึ้น หรือก้าวหน้า เพราะ ยังรู้สึกผิดอยู่ ใช้ชีวิตไปอย่างไม่ใยดีตนเอง เพื่อชดเชยความผิด

3. พยายามฆ่าตัวตายเพื่อชดเชยความผิดนั้น 


 การดูแลรักษา
ในส่วนตนเอง
1. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกผิดเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ (norrmal reaction) เมื่อเกิดการสูญเสีย เพราะบางคนกลายเป็นว่ารู้สึกผิด ที่ตนเองที่รู้สึกผิด
การยอมรับความรู้สึกได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

2. ให้เวลาใจที่จะรู้สึกศร้าเสียใจ ไม่ควรปฏิเสธความรู้สึกเศร้าเสียใจ

3. พูดคุยกับผู้อื่น เพราะการเก็บตัว ไม่พูดคุยใครจะยิ่งทำให้อาการแย่มากขึ้น

4. แบ่งปันความรู้สึกกันกับคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ คนที่รู้สึกสนิทใจเป็นต้น

5. ร่วมกิจกรรม เช่นการไปร่วมพิธีศพ ได้บอกกล่าวอะไรที่อยากบอกกับผู้เสียชีวิต หรือ ญาติ

6. เปลี่ยนความรู้สึกเป็นด้านบวก
- การทำงานอาสาสมัครต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ลดความรู้สึกผิดได้ และ กลับมาเห็นคุณค่าในตนเองได้
- มองว่าความผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะช่วยให้การใช้ชีวิตต่อไปดียิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อคนครอบครัว และต่อสังคม

7. ใคร่ครวญอย่างมีสติ ว่าเรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปหรือเปล่า

บางที สิ่งที่เรามองว่าตนผิด จนเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างมหาศาล อาจมีความจริงแค่เล็กน้อย ที่เหลือ เรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปก็เป็นได้ค่ะ

8. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ การให้อภัยตนเอง และ เริ่มต้นชีวิตใหม่

มีผู้กล่าวไว้ว่า “คนที่ให้อภัยตนเองไม่ได้ คือ การหลงตนเองชนิดหนึ่ง”
ซึ่งเป็นความจริง เพราะเราหลงตัว ว่าเราจะทำผิดอะไรไม่ได้เลย เราจึงไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้

เพราะในความจริง คนเราทุกคน ล้วนทำผิดได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์
เราเองเป็นคนๆหนี่ง เมื่อคนอื่นทำผิดได้ เราก็ผิดได้เช่นกัน
และ ฝึกที่จะให้อภัยตัวเอง และ เริ่มต้นใหม่ ด้วยชีวิตที่ดีขึ้นเพราะเราได้มีบทเรียนดีๆสอนใจเราแล้ว

การดูแลของคนใกล้ตัวต่อผู้ที่รู้สึกผิด
1. รับฟัง และอย่างความเข้าใจ
2. ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกผิดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไร
3. อย่าซ้ำเติม
4.ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ค่ะ




ความรู้สึกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะทำให้เกิดการแก้ไขนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่า
ตรงข้ามกับการที่ไม่มีความรู้สึกผิด จะมีแต่การแก้ตัว กล่าวโทษคนอื่น ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความวุ่นวายและทำร้ายกันค่ะ

แต่ความรู้สึกผิดที่มากเกินไป จะกลับมาทำร้ายเราได้นะคะ
ดังนั้นตรงนี้ “ความเมตตาต่อตนเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ



ภาษิตธิเบตกล่าวว่า “ไม่รู้ว่า พรุ่งนี้หรือชาติหน้า อะไรจะมาก่อนกัน”
เมื่อวันนี้ เรามีโอกาสมีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า อย่างดีที่สุดนะคะ
อย่างน้อยเมื่อวาระสุดท้ายมาถีง จะได้เป็นวาระที่ดีที่สุดของเราค่ะ :)

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี




ที่มาของภาพประกอบ
:
http://economictimes.indiatimes.com/slideshows/nation-world/south-korean-ferry-disaster-images-of-rescue-operations/rescued-passengers-cry/slideshow/33828819.cms