วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (Survivor guilt)

จากเหตุการณ์โศกนาฎกรรมเรือล่มที่ประเทศเกาหลี
นำความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างมากมายทั้งกับคนเกาหลี และ คนทั่วโลก ที่เฝ้าติดตามดูข่าว

และหลายคนคงได้ยินข่าวที่สะเทือนใจอีกข่าวหนึ่งตามมา เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ของ รองผอ. โรงเรียนมัธยมทันวอน ผูกคอตายใกล้กับศูนย์ติดตามความคืบหน้าเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ "เซวอล" ล่ม

รอง ผอ. เป็น 1 ในผู้รอดชีวิต ซึ่งได้เขียนจดหมายลาตาย ถึงพ่อแม่ และผู้ปกครองของเด็กๆในโรงเรียนที่เสียชีวิต ด้วยความรู้สึกผิดกับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามข้อความในจดหมายที่เขียนดังนี้
“ถึงคุณพ่อ คุณแม่ โรงเรียน เด็ก ๆ และผู้ปกครองทุกท่าน ผมขอโทษ ผมลำบากใจเหลือเกินกับการมีชีวิตอยู่ ทั้งที่ยังมีอีกกว่า 200 ชีวิตที่ยังไม่รู้ว่าเป็นตายร้ายดียังไง ผมจะขอรับผิดทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ผมขอให้เผากระดูกของผม และนำเถ้ากระดูกไปโปรยบริเวณที่เรือจม เพื่อให้ผมจะได้ไปทำหน้าที่ครูให้กับเด็ก ๆ ที่เสียชีวิตอีกครั้งในโลกหลังความตาย"

โดยก่อนหน้านี้ แหล่งข่าว รายงานว่า ก่อนที่ รองผอ. คัง มินกยู จะฆ่าตัวตาย ได้พูดซ้ำๆว่า “ทำไมฉันรอดอยู่คนเดียว”

ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นของ รอง ผอ. คือ ความรู้สึกผิดของเขาที่มีต่อการตายของเด็ก ต่อผู้ปกครอง กับเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น

จากเหตุการณ์นี้ เราลองมาทำความรู้จักภาวะนี้ ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต(survivor guilt ) ในแง่มุมทางจิตวิทยา กันนะคะ

ภาวะนี้ได้ถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ จากจดหมายของผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ทหารนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต พบได้ไม่น้อย สามารถพบได้ถึง ร้อยละ 30 ในจำนวนผู้รอดชีวิตทั้งหมด

อะไรที่ทำให้ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเกิดความรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้รอดชีวิต
ทั้งที่ลึกๆแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตาย
ทุกคนต้องการมีชีวิตอยู่ ยิ่งในวินาทีที่คับขันต่อความเป็นความตาย ทุกคนต้องการที่จะมีชีวิตรอด
แต่อะไรที่ทำให้เขารู้สึกผิดเมื่อเขาได้กลายเป็นผู้มีชีวิตรอด และ รู้สึกอยากตายมากกว่าอยากจะมีชีวิตต่อไป
บางคนจะเฝ้าพร่ำบ่น หรือเฝ้าครุ่นคิดซ้ำๆว่า
ทำไมฉันถึงรอด? ในขณะที่คนอื่นตาย
หรือ ทำไมฉันไม่ได้รับบาดเจ็บ? ในขณะที่คนอื่นตาย หรือ พิกลพิการ
หรือ ทำไมฉันถึงไม่ทำอย่างนั้น ? เพื่อจะได้ช่วยคนอื่นได้
หรือ ทำไมฉันไม่ตายแทนคนนั้นไปซะ?
หรือ ทำไมเขาต้องมาตายแทนฉันด้วย?

ความรู้สึกผิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน เหล่านี้คือ เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนี้ได้ค่ะ
1. เขารู้สึกว่าตนเป็นสาเหตุหลักทำให้คนตาย
2. เขารู้สึกว่าตนได้ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไป จนทำให้คนตาย หรือ บาดเจ็บ
3. เขาคิดว่าเขาน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพื่อช่วยให้คนรอดได้ แต่ตอนนั้นเขากลับไม่ได้ทำ
จึงเกิดความรู้สึกผิดติดค้างในใจ
4. มีคนตายหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยเหลือเขา หรือ ตายแทนเขา
5. เขาอยู่ในสถานการณ์ตัดสินใจช่วยบางคน และ ปล่อยให้บางคนตาย

ซึ่งทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา อาจเป็นเรื่องจริงที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ
แต่หลายครั้งกลับพบว่าเป็นความรู้สึกที่เขาคิดไปเองเกินเหตุก็มี

6. บริบทของสังคม ที่กระตุ้นภาวะนี้
6.1 วัฒนธรรมในสังคม ที่ให้ความสำคัญ และเรียกร้องต่อการรับผิดชอบต่อส่วนรวม
6.2 มีแรงกดดัน ตำหนิติเตียน จากคนรอบข้าง จากคนในสังคม

ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้ บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้

1. คนที่มีคุณธรรม (moral)
คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรมไม่ว่าทำอะไรลงไป เดือดร้อนคนอื่นแค่ไหน ไม่มีทางที่เขาจะรู้สึก รู้สึกผิดได้เลย เนื่องการพัฒนาทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็กทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่สามารถรู้สึกผิดบาปหรือละอายใจกับการกระทำผิดของตนได้
เพราะ ความรู้สึกผิดจะแปรผันตามกับเรื่องการมีคุณธรรมประจำใจ ถ้ายิ่งมีคุณธรรมประจำใจมาก ความรู้สึกผิดก็ยิ่งมีปริมาณมาก

2. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ (responsibilty) ต่อพฤติกรรมของตน 
รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตนต่อส่วนรวม (accountability)

3. เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องช่วยคนอื่น (altruism)
ตามปกติทุกคน พัฒนาการทางจิตใจวัยเด็กแรกเกิดของชีวิต จะมีลักษณะนึกถึงตนเอง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง
แต่เมื่อเด็กๆได้เติบโตมีการเลี้ยงดูที่ดี จะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมมากขึ้น ความรู้สึกนึกถึงตนเองจะลดลงและพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกถึงคนอื่นได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดอยากช่วยคนอื่นและอยากเสียสละเพื่อผู้อื่น
ซึ่งอย่างเหตุการณ์เรือล่ม จะเห็นว่า มีฮีโร่มากมายที่ยอมเสียสละตนเอง
(บางคนถึงกับเสียชีวิต) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดชีวิต

4. เป็นคนที่สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ (empathy)
คนที่สามารถรับรู้และเข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวด ของผู้อื่นได้ เมื่อเห็นคนที่มีความลำบาก จะกระตุ้นความอยากช่วยเหลือของเขา

ซึ่งความรู้สึกผิดเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้
แต่คนที่จะมีความรู้สึกผิดได้มากจนเกิดโทษคือ

1. เกิดจากบุคลิกที่ชอบตำหนิตัวเอง (self- criticism)
ในคนที่มีบุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มักมีแนวโน้ม เพ่งโทษตัวเอง เห็นข้อลบของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมักหันเข้ามาคาดโทษ และ ตำหนิตนเองไว้ก่อน

2. คนที่ให้อภัยตนเองได้ยาก มีระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากเกินไป จนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถให้อภัยตนเองได้เลย

3.เป็นคนขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าดีก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย ถ้ามีผิดไปนิดนึงจะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด คือ มีลักษณะมองอะไร เป็นขาวหรือดำเท่านั้น ไม่สามารถมองอะไรเป็นสีเทาๆได้

ผลจากความรู้สึกผิดที่มีปริมาณมากเกินไป
ความรู้สึกผิดไม่ใช่เรื่องไม่ดี อย่างที่กล่าวไป คนที่รู้สึกผิดเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของคนดี
และความรู้สึกผิดทำให้เราอยากปรับปรุงตัว ทำอะไรที่ดีๆมากขึ้น

แต่การที่รู้สึกผิดมากไป อาจเกิดโทษได้อย่างมาก
1. อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ได้

2. ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ต้องการลงโทษตัวเอง
ในบางคนที่แม้ไม่ได้กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกังวล
แต่ไม่สามารถมีความสุขในชีวิตตนเองได้อีกเลย บางคนจะมีความสุขก็รู้สึกละอายใจ จึงต้องทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจตลอด หรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่ตลอด ไม่อยากให้เห็นตนเองดีขึ้น หรือก้าวหน้า เพราะ ยังรู้สึกผิดอยู่ ใช้ชีวิตไปอย่างไม่ใยดีตนเอง เพื่อชดเชยความผิด

3. พยายามฆ่าตัวตายเพื่อชดเชยความผิดนั้น 


 การดูแลรักษา
ในส่วนตนเอง
1. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกผิดเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ (norrmal reaction) เมื่อเกิดการสูญเสีย เพราะบางคนกลายเป็นว่ารู้สึกผิด ที่ตนเองที่รู้สึกผิด
การยอมรับความรู้สึกได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ

2. ให้เวลาใจที่จะรู้สึกศร้าเสียใจ ไม่ควรปฏิเสธความรู้สึกเศร้าเสียใจ

3. พูดคุยกับผู้อื่น เพราะการเก็บตัว ไม่พูดคุยใครจะยิ่งทำให้อาการแย่มากขึ้น

4. แบ่งปันความรู้สึกกันกับคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ คนที่รู้สึกสนิทใจเป็นต้น

5. ร่วมกิจกรรม เช่นการไปร่วมพิธีศพ ได้บอกกล่าวอะไรที่อยากบอกกับผู้เสียชีวิต หรือ ญาติ

6. เปลี่ยนความรู้สึกเป็นด้านบวก
- การทำงานอาสาสมัครต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ลดความรู้สึกผิดได้ และ กลับมาเห็นคุณค่าในตนเองได้
- มองว่าความผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะช่วยให้การใช้ชีวิตต่อไปดียิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อคนครอบครัว และต่อสังคม

7. ใคร่ครวญอย่างมีสติ ว่าเรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปหรือเปล่า

บางที สิ่งที่เรามองว่าตนผิด จนเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างมหาศาล อาจมีความจริงแค่เล็กน้อย ที่เหลือ เรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปก็เป็นได้ค่ะ

8. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ การให้อภัยตนเอง และ เริ่มต้นชีวิตใหม่

มีผู้กล่าวไว้ว่า “คนที่ให้อภัยตนเองไม่ได้ คือ การหลงตนเองชนิดหนึ่ง”
ซึ่งเป็นความจริง เพราะเราหลงตัว ว่าเราจะทำผิดอะไรไม่ได้เลย เราจึงไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้

เพราะในความจริง คนเราทุกคน ล้วนทำผิดได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์
เราเองเป็นคนๆหนี่ง เมื่อคนอื่นทำผิดได้ เราก็ผิดได้เช่นกัน
และ ฝึกที่จะให้อภัยตัวเอง และ เริ่มต้นใหม่ ด้วยชีวิตที่ดีขึ้นเพราะเราได้มีบทเรียนดีๆสอนใจเราแล้ว

การดูแลของคนใกล้ตัวต่อผู้ที่รู้สึกผิด
1. รับฟัง และอย่างความเข้าใจ
2. ทำความเข้าใจว่าความรู้สึกผิดนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาอย่างไร
3. อย่าซ้ำเติม
4.ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา ค่ะ




ความรู้สึกผิดไม่ใช่สิ่งเลวร้าย เพราะทำให้เกิดการแก้ไขนำมาสู่สิ่งที่ดีกว่า
ตรงข้ามกับการที่ไม่มีความรู้สึกผิด จะมีแต่การแก้ตัว กล่าวโทษคนอื่น ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความวุ่นวายและทำร้ายกันค่ะ

แต่ความรู้สึกผิดที่มากเกินไป จะกลับมาทำร้ายเราได้นะคะ
ดังนั้นตรงนี้ “ความเมตตาต่อตนเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ



ภาษิตธิเบตกล่าวว่า “ไม่รู้ว่า พรุ่งนี้หรือชาติหน้า อะไรจะมาก่อนกัน”
เมื่อวันนี้ เรามีโอกาสมีชีวิตอยู่ ใช้ชีวิตที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่า อย่างดีที่สุดนะคะ
อย่างน้อยเมื่อวาระสุดท้ายมาถีง จะได้เป็นวาระที่ดีที่สุดของเราค่ะ :)

บทความโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี




ที่มาของภาพประกอบ
:
http://economictimes.indiatimes.com/slideshows/nation-world/south-korean-ferry-disaster-images-of-rescue-operations/rescued-passengers-cry/slideshow/33828819.cms

วันจันทร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2557

โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม (Social Phobia หรือ Social Anxiety)


กลัวว่าตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้า
มักเป็นสถานการณ์ที่รู้สึกว่า กำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนหลายคน
เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการเดินเข้าไปในที่คนเยอะๆ และ รู้สึกว่าสายตาหลายๆคู่กำลังมองมาก็จะเกิดความประหม่าขึ้นมาอย่างมาก
จนบางคนไม่กล้าเดินเข้าไปในที่มีคนมากๆ
เพราะ กลัวตกเป็นเป้าสายตา

โดยบางคนตอนอยู่ในกลุ่มเพื่อน พูดคุยเก่ง พูดจาคล่องแคล่วร่าเริงดีปกติ แต่เมื่อต้องไปพูดหน้าชั้น กลับพูดไม่ออก เกิดอาการประหม่าอย่างมาก
ลักษณะอาการ
คือ มีความกลัววิตกกังวลเกิดขึ้นเอง แม้ทราบว่าไม่มีเหตุผลสมควรที่จะกลัวกังวลขนาดนั้นแต่ก็อดกลัวกังวลไม่ได้
และมีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อแตก ตัวเย็น มือเท้าชา บางคนใจหวิว เหมือนจะเป็นลม
บางคนอาจมีอาการปวดปัสสาวะ หรือ อุจจาระได้
ด้วยความกังวลทั้งใจและทางกายนี้ ผู้ป่วยจะพยายามจะหลบเลี่ยงหลีกหนีต่อสิ่งที่กลัวนั้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
และ มักมีอาการนานมายาวนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป
และเมื่อพูดนำเสนอ หรือ แสดงออกไปเสร็จ
มักจะเก็บความคิดวนไปวนมา และ รู้สึกไม่ค่อยพอใจตัวเอง
โดยมักเห็นแต่จุดผิดพลาดของตัวเอง
จนทำให้เกิดความกลัวกังวลถ้าต้องพูดหรือแสดงออกในครั้งต่อไป
โรคนี้พบได้ 2-3% ในคนทั่วไป

กัลวลต่อหน้าสังคม
สาเหตุหลักมี 2 ประการ คือ ด้านจิตใจ และ ด้านร่างกาย
1. สาเหตุด้านจิตใจ
ผลจากอดีต
- เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต เช่น เคยพูด หรือ แสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่นๆ แล้ว ได้รับการตอบรับที่ไม่ดี หรือ เกิดความรู้สึกอับอาย ประสบการณ์เลวร้ายนั้น จะกลายเป็นแผลในใจ จนเกิดความรู้สึกฝังใจ
- เคยมีอาการประหม่าตื่นเต้นตอนพูด หรือ แสดงออก แล้วถูกคนจับได้ หรือ เกรงว่าคนจะจับได้ เลยเกิดความประหม่า กังวลขึ้นมาทุกครั้งที่ต้องเจอสถานการณ์แบบเดิม
- เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ พ่อแม่มักวิพากษ์วิจารณ์เด็กตลอด จนเด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ มองว่าตนเองไม่เป็นที่น่ายอมรับ
หรือ พ่อแม่ที่มักทำให้เด็กรู้สึกอับอาย (shame)
หรือ เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่แคร์สายตาคนอื่นมากๆ อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบตัวอย่างมาก ยึดถือความคิดเห็น หรือ คำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นมาก
เด็กก็จะสั่นไหว อ่อนไหว และ แคร์สายตาคนอื่นมากไปด้วยเช่นกัน
(ที่เรียกว่า แคร์สื่อมาก)
ผลจากตัวเอง
- มักมองตนเองในแง่ลบ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ค่อยเห็นข้อดีของตนเอง ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง มีความคิดกับตนเองในแง่ลบบ่อยๆ เช่น ถ้าฉันแสดงตัวตนของฉันออกไป คนจะต้องปฏิเสธฉันแน่นอน หรือ ความคิดเห็นของฉันไม่ได้เรื่อง เป็นต้น
- มีความคาดหวังกับตัวเองมาก มีมาตรฐานกับตัวเองสูง จนไม่ค่อยรู้สึกพอใจกับตัวเองสักที
- รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอยู่ตลอด มองว่าตนเองสู้คนอื่นไม่ได้ (inferior)
- ขาดความมั่นคงจากภายใน ต้องการการเติมเต็มจากคนภายนอกอย่างมาก จึงสั่นไหว กับสายตาคนอื่นอย่างมาก
- คนที่มีลักษณะวิตกกังวลง่ายอยู่เดิม และ มักชอบคิดเรื่องต่างๆไปล่วงหน้า โดยเฉพาะมักคิดไปในแง่ลบ
ผลอิทธิพลในสังคม หรือ วัฒนธรรม
- สังคมหรือวัฒนธรรม ที่ใช้ความรู้สึกอับอายต่อสายตาคนอื่นเป็นการลงโทษ
- สังคมที่อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
- สังคมที่เน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก หรือ มีมาตรฐานสูง
- สังคมที่มักตัดสินคนอื่นๆที่การแสดงออกเป็นหลัก
- สังคมที่อัตราการแข่งขันสูง
- สีงคมที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก
- สังคมที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคำตำหนิ
เป็นต้น
2. สาเหตุด้านร่างกาย
1) ผลด้านพันธุกรรม พบว่าในญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า
2) ผลจากสารสื่อประสาทในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหลั่งผิดปกติ ทำให้เกิดความกลัวกังวลง่ายกว่าคนทั่วไป จนเกิดอาการกังวลขึ้นทั้งทางร่ายกายและทางจิตใจไวกว่าปกติ
การรักษา
1. การรักษาด้านจิตใจ
1) พฤติกรรมบำบัด
- การรักษาโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว (exposure therapy)
- การใช้เทคนิกผ่อนคลาย (relaxation technique) เช่น นั่งหรือยืนในท่า ที่สบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆลึกๆ ไปเรื่อยๆ สัก 3-5 นาที หรือ อาจถึง 10 นาที หรือ มากกว่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเกิดความสงบมากขึ้น จากร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ จิตใจที่สงบมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นคงจากภายในมากขึ้นหรือ การจินตนาการถึงสิ่งที่ดี
- การจินตนาการ สถานการณ์จำลอง ที่ตนมักกลัว เพื่อสร้างความคุ้นชินเพื่อลดความกลัวกังวล
และ ถ้ามีการบันทึกความก้าวหน้าของการเผชิญสถานการณ์ที่กลัว จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้มากขึ้น
2) การปรับวิธีคิด
- ปรับวิธีคิดที่มองตนเอง หรือ สถานการณ์ต่างๆรอบตัวแย่เกินจริงไปมาก จนเกิดความวิตกกังวล หรือ มักแปลความสิ่งต่างๆไปในแง่ลบมากเกินไป การรักษาปรับวิธีคิด หรือ วิธีแปลความสิ่งต่างๆให้เหมาะสมตามความเป็นจริง ให้กลับมามองเห็นสิ่งดีๆ เห็นศักยภาพในตนเอง หรือ แปลความสถานการณ์รอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง
3) การทำจิตบำบัด
การทำจิตบำบัดแบบเชิงลึก เพื่อหาที่มาและช่วยแก้ไขปมขัดแย้ง ในจิตใจ ซึ่ง รักษาโดยจิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยาคลินิค เพื่อให้กลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เกิดความรู้สึกมั่นคงขึ้นภายใน จะลดความสั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลงไปอย่างมาก
2. การรักษาด้านร่างกาย มียาที่ใช้รักษาหลายชนิด
(การใช้ยารักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์)
เช่น
กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Serotonon-Specific Reuptake Inhibitors (SSRI)
กลุ่มยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม benzodiazepine
และ ยาในกลุ่ม beta-adrenergic antagonist เช่น propranolol ใช้ในลดอาการประหม่าทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เป็นต้น
การมีความกลัวกังวล หรือ ใส่ใจสายตาต่อสังคมรอบตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และ ด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำเพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการกลับมาใคร่ครวญตัวเอง
เพราะถ้าไม่มีความแคร์หรือใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย อาจทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม และ ไม่รู้ตัว จนอาจเกิดผลเสียหายต่อตนเองและคนอื่นได้
ดังนั้นการมีความกลัวกังวลบ้าง เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆมากขึ้น
ความกลัวกังวลจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ เพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเอง และ ต่อคนอื่นได้
การกลับมาดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการไม่มากเราอาจสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับทัศนะคติใหม่ มองตัวเอง และ มองสถานการณ์รอบข้างให้ตรงตามความเป็นจริง มองอย่างมีสติมากขึ้น ทันความคิดด้านลบให้บ่อยขึ้น เพราะหลายครั้งเราคิดมากไปเอง
หรือฝึกร่ายกายให้อยู่ในความผ่อนคลายมากขึ้น ดังวิธีที่ได้กล่าวข้างต้น
แต่ถ้ามีอาการมาก การพบแพทย์ เช่น จิตแพทย์เป็นตัวช่วยหนึ่งที่อาจช่วยคุณได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคทางจิตหรืออะไร
เพียงแต่อาการทางจิตใจบางอย่างมีผลมาจากทางร่ายกายด้วย
ดังนั้นการพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นการรู้จักดูแลตัวเองนะคะ
บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
เครดิตภาพ http://www.brighteyecounselling.co.uk/alcohol-drugs/social-anxiety-disorder/


โรคจิตเภท (Schizophrenia)


แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ความไม่สบายของพระเอกในเรื่องคือ เขาป่วยป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) ซึ่งมีอาการบางอย่างที่ทำให้บางครั้งเขาไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความจริงช่วง หนึ่ง และ ทำให้คนรอบข้างลำบากใจในการใช้ชีวิตร่วมด้วย
แต่เมื่อได้เข้าสู่การรักษา คนรอบข้างที่เข้าใจ รวมทั้งตัวเขาเองด้วยที่เข้าใจอาการที่เกิดขึ้นทำให้เขาสามารถกลับมาใช้ ชีวิตได้ อยู่กับครอบครัวได้ และสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากความสามารถที่เขามีได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง หนึ่ง
ในบทความนี้ จะกล่าวถึงลักษณะของโรคนี้ สาเหตุการเกิดโรค แนวทางการรักษาของแพทย์ และแนวทางการดูแลของญาติ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นค่ะ
10151979_507640096006678_1985528088_n
โรคจิตเภท (Schizophrenia)
คือ ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติทางความคิด พฤติกรรม และ ความรู้สึก จึงทำให้มีผลเสียด้านการดำเนินชีวิตชัดเจน โดยโรคนี้มีลักษณะเรื้อรัง
อาการที่พบได้มีดังต่อไปนี้
1. ความผิดปกติทางความคิดคือ อาการหลงผิด (delusion) เช่นหลงผิด หวาดระแวงว่าจะมีคนคอยจับผิด ติดตาม นินทา ทำร้ายเขา เลียนแบบเขา หรือ หลงผิดคิดว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญ เป็นเทพ เป็นเจ้าชาย เจ้าหญิง เป็นบุคคลสำคัญกลับชาติมาเกิด เป็นต้น
2. ความผิดปกติทางการปรับรับรู้ (hallucination) คือ ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน (hallucination) ได้ยินเสียงหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดคุยด้วย หรือ มักได้ยินเสียงคนวิพากษ์วิจารณ์ โดยไม่ได้เห็นตัวคนพูดชัดเจน
3. ความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ แสดงลักษณะพฤติกรรม บุคลิกท่าทาง ไม่เหมาะสม เช่น วุ่นวายกว่าปกติ พูดจาเนื้อหาแปลกๆ จับใจความได้ยาก หรือนิ่งเฉยมากผิดปกติ เช่น ไม่ขยับตัว ไม่ขยับแขนขา ไม่ยอมลุกไปไหน นอนแข็งนิ่งตลอดทั้งวัน หรือ แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ไม่เข้ากับบริบทที่อยู่ เช่น เดินไหว้ เดินกราบ สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา พูดพึมพำ พูดโต้ตอบคนเดียว ยิ้มหัวเราะอยู่คนเดียว เป็นต้น  หรือมีอาการไม่ค่อยดูแลสุขอนามัยความสะอาด เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่ทำความสะอาดร่างกาย ไม่ดูแลเสื้อผ้าหน้าผม อย่างที่ควรจะเป็น ปล่อยปละละเลยจนดูสกปรก เป็นต้น
4. ความผิดปกติด้านความรู้สึก เช่น ไม่แสดงอารมณ์ หรือ การแสดงออกของอารมณ์น้อยกว่าปกติ หรือ มีลักษณะเฉื่อยชา ขาดความกระตือรือร้น (avolition) ขาดแรงจูงใจในชีวิต
หรือ แสดงอารมณ์ออกมาไม่เหมาะสมกับเรื่องราว หรือ บริบทที่อยู่รอบตัว
หรือ อาจแสดงอารมณ์ก้าวร้าวมากกว่าปกติ ในผู้ป่วยที่มีความคิดหวาดระแวง
5. ความผิดปกติด้านสังคมหรือหน้าที่การงาน ตั้งแต่เริ่มเจ็บป่วย กิจกรรมด้านสำคัญๆ ของผู้ป่วยบกพร่องลงจากระดับเดิมก่อนป่วยอย่างชัดเจน อย่างน้อยหนึ่งด้านขึ้นไป เช่นการเรียน การงาน สัมพันธภาพกับผู้อื่น ชอบเก็บตัว ไม่เข้าสังคม หรือ การดูแลตนเองแย่ลง
6. ระยะเวลาที่เจ็บป่วย ผู้ป่วยจะมีอาการของความผิดปกติอย่างต่อเนื่องนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต่อเนื่องมาเป็นปี หรือ หลายปี
พบได้ 0.5-1 % ในประชากรทั่วไป
อายุที่มักเริ่มป่วยคือ ช่วง 15-24 ปี ส่วนใหญ่เริ่มมีอาการช่วงวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ตอนต้น
สาเหตุการเกิดโรค
1. สาเหตุด้านร่างกาย ปัจจุบันพบว่าเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค คือ
1).ปัจจัยด้านพันธุกรรม ญาติของผู้ป่วยมีโอกาสเป็นโรคจิตเภทสูงกว่าประชากรทั่วไป ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดมากยิ่งมีโอกาสสูง เช่น มีพ่อและแม่ที่ป่วยเป็นโรคนี้ลูกมีโอกาสเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคนี้มากกว่าคน ทั่วไป 40 เท่า หรือ มีพี่น้องป่วยเป็นโรคนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป 8 เท่า เป็นต้น
2).ปัจจัยด้านสมอง เช่น ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง
เช่น สารโดปามีน สารซีโรโตนิน หรือ ลักษณะกายวิภาคของสมองผิดปกติ เป็นต้น
2. สาเหตุด้านจิตใจและสังคม
ปัจจุบันมองว่า ความเครียด หรือ สาเหตุด้านจิตใจไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรค
โดยพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเป็นผลจากด้านร่างกาย เช่น พันธุกรรม หรือ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ดังที่ได้กล่าวข้างต้น
แต่ ปัจจัยด้านจิตใจ ครอบครัว และ สังคม เป็นปัจจัยที่ทำให้โรคนี้หายช้า หรือ กำเริบได้
1). ปัจจัยทางด้านครอบครัว
- ลักษณะครอบครัวที่มีผลต่อการกำเริบของโรคคือ ครอบครัวที่มีลักษณะ การใช้อารมณ์ต่อกันสูง (high express-emotion) คือ ครอบครัวที่มีลักษณะชอบตำหนิวิพากษ์วิจารณ์กัน ด่าทอกัน มีท่าทีไม่เป็นมิตรใส่กัน หรือ มีลักษณะจู้จี้จุกจิกยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป
- ครอบครัวที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วย หรือ มีฐานะยากจน อาจทำให้ดูแลผู้ป่วยได้ไม่เต็มที่ เช่น ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ทำให้ก่นด่า หรือ ทะเลาะเบาะแว้งกับอาการหลงผิดของผู้ป่วย ไม่พาผู้ป่วยมารับการรักษา หรือ ไม่มีเวลาดูแลให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาต่อเนื่อง หรือ ไม่มีเงินที่จะรักษาผู้ป่วยต่อเนื่อง เป็นต้น
2) ปัจจัยด้านสังคม
สังคมที่ไม่เข้าใจความเจ็บป่วยของผู้ป่วย มีท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์ผู้ป่วย หรือ พูดจาด่าว่า ดูถูก ผู้ป่วย จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกตึงเครียด และเป็นผลทำให้โรคกำเริบได้ง่ายกว่าการอยู่ในสังคมที่เข้าใจเรื่องความเจ็บ ป่วย และ ยอมรับผู้ป่วยในฐานะคนๆหนึ่งที่มีศักดิ์และสิทธิ์เหมือนคนทั่วไป
3) ปัจจัยด้านความตึงเครียด
แนวคิดที่ว่าคือ stress-diathesis model ซึ่งเชื่อว่าผู้ป่วยนั้นมีแนวโน้มหรือจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้วที่จะป่วยเป็น โรคนี้ แต่เมื่อพบกับสภาพกดดันบางประการทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมา
การรักษา
โรคนี้รักษาให้มีอาการดีขึ้นได้ หลายคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ หรือ หลายคนอาจไม่กลับมาเท่าปกติ แต่ก็สามารถดูแลตนเอง และ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
การรักษาประกอบด้วย 2 ด้านหลัก ๆ คือ ด้านร่างกาย และ ด้านจิตใจ
1. การรักษาด้านร่างกาย
1). การรักษาด้วยยา
เพื่อควบคุมอาการ ปรับความคิด ปรับพฤติกรรม ที่ไม่เหมาะสม ให้กลับมาปกติเหมาะสม กลับมาอยู่ และ รับรู้โลกตามความเป็นจริงๆมากขึ้น
เนื่องจากความเจ็บป่วย คือ อาการหลงผิด หรือ อาการหูแว่ว ทำให้ผู้ป่วยหลายครั้งไม่ได้รับรู้โลกตามความเป็นจริง ผู้ป่วยจะหลุดและหลงไปตามอาการความคิดหลงผิด หรือ อาการหูแว่ว ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น จนก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเองและผู้อื่น
จุดหมายของการรักษาคือทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมารับรู้โลกตามความเป็นจริง
เนื่องจากสาเหตุของโรคนี้ เกิดขึ้นจากสาเหตุด้านร่างกาย คือ ความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองบางชนิดดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่เข้าไปช่วยปรับการทำงานสารสื่อประสาทเหล่านี้ให้ กลับมาทำงานได้อย่างปกติ จะเป็นตัวหลักในการช่วยลดความผิดปกติของอาการต่างๆได้
โดยยามี 3 รูปแบบหลักๆคือ รูปแบบยาเม็ด รูปแบบยาน้ำ และ รูปแบบยาฉีด ซึ่งการได้รับยารูปแบบใด ขึ้นกับลักษณะความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ที่ดูแลจะเป็นผู้พิจารณา
สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ทานยาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าทานยาแล้วมีผลข้างเคียงปรึกษาแพทย์ที่ดูแล แต่ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอย่างที่กล่าวข้างต้นโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสาร สื่อประสาทในสมอง การรักษาที่จะปรับให้สารสื่อประสาทให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติ ต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป และต้องได้รับยาเข้าไปช่วยปรับสารในสมองอย่างต่อเนื่อง มีงานวิจัยที่พบว่า เมื่อมีอาการดีและผู้ป่วยหยุดยาเองอาการกลับมากำเริบได้ เนื่องจากสารสื่อประสาทกลับมาทำงานผิดปกติ ทำให้ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านต่างๆ เช่น ด้านการเรียน การทำงาน และ การเข้าสังคม
การลดยาหรือหยุดยา ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่ทำการรักษา ไม่ควรลดเอง หรือ หยุดเอง
แต่ถ้ามีปัญหาใดๆที่เกิดจากการทานยา สามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษา
สิ่งหนึ่งที่ถือว่า โชคดีสำหรับคนยุคนี้ คือ ปัจจุบันยาที่ใช้รักษาโรคนี้มีการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มียารักษาโรคนี้อยู่หลายชนิด เพิ่มตัวเลือกในการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนได้มากขึ้น ทำให้มียาที่ออกฤทธิ์รักษาได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ และ ผลข้างเคียงบางชนิดน้อยกว่ายาในยุคก่อนๆ ซึ่งถ้าเทียบกับ ยุคสมัยของ จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์รางวัลโนเบล ในเรื่อง a beautiful mind ที่มียารักษาโรคนี้อยู่ไม่กี่ชนิดจึงพบว่าคนยุคนี้ โชคดีกว่านักค่ะ
2). การรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล ในกรณีดังต่อไปนี้
1. มีพฤติกรรมเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
2. มีปัญหาความเจ็บป่วยที่ต้องดูแลใกล้ชิด
3. ควบคุมการกินยา ในผู้ป่วยไม่ยอมกินยาและญาติดูแลไม่ได้
3). การรักษาด้วยไฟฟ้า(ECT)
มักใช้ในผู้ป่วย ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว หรือ มีลักษณะซึมเศร้ามากๆร่วมด้วย
2. การดูแลรักษาด้านจิตใจ และ สังคม
1). การรักษาด้านจิตใจและสังคม
เป็นส่วนสำคัญมาก เนื่องจากอาการป่วยทำให้มีผลกระทบกับชีวิตผู้ป่วย ครอบครัวและสังคมมาก และ ความตึงเครียดส่งผลให้โรคกำเริบได้ จึงควรให้ความสำคัญเพื่อช่วยให้ผู้ป่วย ครอบครัว และ สังคม อยู่กันได้อย่างเข้าใจ มีความสุข และลดความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ
2).การฟื้นฟูทักษะ
การฝึกดูแลตัวเอง การเข้าสังคม และ การฝึกอาชีพที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความภูมิใจในตัวเองของผู้ป่วย เพิ่มรายได้ ลดการเป็นภาระต่อผู้ใกล้ชิดและสังคมได้
เช่นทำกลุ่มบำบัด การทำกิจกรรมโรงพยาบาลภาคกลางวัน แก่ผู้ป่วยที่อาการคงที่ การให้ผู้ป่วยฝึกทักษะ อาชีพง่ายๆ ที่ผู้ป่วยพอมีความชอบหรือความถนัด
3).รับคำแนะนำและปรึกษาจิตแพทย์
จิตแพทย์สามารถเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำแก่ครอบครัว และ ชุมชมที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้ป่วย วิธีการดูแลผู้ป่วย
3.บทบาทของผู้ดูแล เป็นเรื่องที่สำคัญมากค่ะ
หลายครั้งพบว่า การดูแลที่เหมาะสมส่งผลให้ความรุนแรงของโรคน้อยลงได้ค่ะ รายละเอียดดังนี้ค่ะ
1). มุมมองและการยอมรับผู้ป่วย
• อาการที่เป็นปัญหาของผู้ป่วย เช่น พฤติกรรม ความคิดที่ไม่เหมาะสม เกิดขึ้นเพราะผู้ป่วยมีความเจ็บป่วย
• ผู้ป่วยทุกคนมีความหมายและคุณค่าในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับคนทั่วไป
• มองเห็นศักยภาพ จุดดีที่ผู้ป่วยมี
• มีเจตคติและความปรารถนาที่ดีกับผู้ป่วย
2). แนวทางการปฏิบัติ
• ควรเน้นที่สัมพันธภาพในการรักษา รับฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ไม่โต้แย้งคัดค้านอาการหลงผิดของผู้ป่วยว่าไม่เป็นจริง ขณะเดียวกันไม่เข้าข้าง หรือแสดงท่าทีสนับสนุนความเชื่อของผู้ป่วย และ หันเหความสนใจผู้ป่วยไปทำสิ่งอื่นๆที่เหมาะสมแทน
• การรักษามุ่งเน้นที่การปรับตัวของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยพออยู่ในสังคมได้ มีการปรับตัวที่ดีในระดับหนึ่ง แม้จะยังมีอาการหลงผิด หรือ พฤติกรรมแปลกๆ อยู่บ้าง
• เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือความคิดที่เหมาะสม ให้ชมเชย เพื่อเป็นกำลังใจ เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดการเรียนรู้และต้องการทำสิ่งนั้นบ่อยๆ
• เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมหรือความคิดไม่เหมาะสม ให้บอกผู้ป่วยทันที โดยใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์
• ไม่คาดหวังกับผู้ป่วยสูงมากนัก ว่าผู้ป่วยจะเข้าใจสิ่งต่างๆได้อย่างดี เพราะผู้ป่วยเข้าใจเท่าที่พวกเขาสามารถ
โรคนี้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรือใกล้เคียงคนทั่วไปได้ ถ้าผู้ป่วย และ ญาติ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ และ เข้าใจแนวทางการดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม รวมถึงการให้เกียรติ ให้การยอมรับ และให้ความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานทางจิตใจและกำลังใจที่ดีให้กับผู้ป่วยได้มากค่ะ
บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  รพ.รามาธิบดี
ภาพจาก : http://www.drjack.co.uk/tag/negative-symptoms/

รักอย่างเข้าใจ...ไม่มีใครต้องเจ็บ

ในเรื่องของความรัก เป็นเรื่องของความรู้สึกดีๆที่มีต่อกัน
แต่หลายครั้งความรู้สึกดีๆที่มีต่อกันกลับสื่อไปไม่ถึงกัน
อีกฝ่ายไม่รับรู้ หรือ เกิดความเข้าใจกันผิดๆ

นำมาสู่ความบาดหมางใจกันอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่รักกัน




การมารู้จัก"ภาษารัก" ว่ามีหลากหลายแบบ
กว่าที่เราเคยเข้าใจมาก่อน จะทำให้เข้าใจในกันและกัน
และ ช่วยลดความสงสัยว่าเขารักหรือเปล่า?
รวมถึงช่วยให้รู้ว่าภาษารักที่เราแสดงออกต่อเขา
กำลังพอดีตรงใจเขาหรือ่ไม่? อ่ะนะคะ

 


เราลองมาดูกันนะคะ ว่าภาษารักของเราเป็นแบบไหน
และของคนที่เรารักเป็นแบบไหน



ในทางจิตวิทยาโดย ดอกเตอร์ Gary Chapman นักจิตวิทยาด้านให้คำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์
ได้กล่าวถึง ภาษารัก ของมนุษย์โดยหลักๆ มี 5 แบบค่ะ
1. คำพูด (Word of affirmation, appreciation)
2. มีเวลาคุณภาพให้แก่กัน (Quality time)
3. ของขวัญ สิ่งของดีๆ (Gifts)
4. การดูแล (Acts of service )
5. การสัมผัส ทางกาย (Physical touch)

communication04



การที่เขาแสดง ความรักออกมาไม่เหมือนที่เราใฝ่ฝัน ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักเรานะคะ
และ สิ่งทีเราแสดงออกต่อเขา(ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก)
ไม่ได้แปลว่าเขาจะรับรู้ได้ หรือ รู้สึกดีเสมอไปนะคะ

ดังรายละเอียดดังนี้ค่ะ

1. คำพูด (Word of affirmation, appreciation)

ภาษารักด้วยคำพูด เช่น คำบอก”รัก” การบอกความรู้สึกดีๆ เช่น เป็นห่วง คิดถึง หรือ การพูดให้กำลังใจ หรือ พูดชมเชยกัน
ซึ่งคำพูดจะช่วยอีกฝ่ายรับรู้ความรู้สึกดีๆ ในแบบง่ายๆ ตรงไป ตรงมา
ไม่ต้องมาเล่นเกมเดาใจว่าอีกฝ่ายทำแบบนี้คิดอะไรอยู่นะ
ซึ่งในชีวิตจริงไม่เหมือนละคร ที่อีกฝ่ายจะรับรู้ความรู้สึกได้แม้เราไม่พูดออกมา เป็นต้น
สิ่งที่ต้องระวัง : คำพูดที่หวาน แต่ไม่มีความจริง พูดเพื่อเอาใจ แต่ทำไม่ได้ หรือ หวานเวอร์
อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเลี่ยนๆ น่ารำคาญ หรือ รู้สึกว่า เป็นคำโกหกหลอกลวง
สิ่งที่ควรเป็นคือ
- คำพูดที่ออกมาจากใจจริงๆ
- บอกให้มากขึ้น สำหรับคนที่มองว่าคำพูดไม่สำคัญ เท่าการกระทำ
ซึ่งจริงๆอาจไม่จริงทั้งหมดค่ะ
การฝึกพูด ฝึกแสดงความรู้สึกผ่านคำพูดบ้างเป็นเรื่องที่ดี
หลายครั้งทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นมาก
คำพูดหนึ่งๆมีอิทธิพลมากค่ะคำพูดดีๆ จากคนที่เรารัก เหมือนเป็นน้ำทิพย์ชะโลมใจทีเดียว ทำให้ผู้ฟังเกิดกำลังใจขึ้นอย่างมหาศาลค่ะ

2. มีเวลาคุณภาพให้แก่กัน (Quality time)

เช่น มีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันจริงๆที่จะรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือ ทำกิจกรรมดีๆ ด้วยกัน เป็นต้น
สิ่งที่แสดงถึงว่ามีเวลาคุณภาพให้กันจริงๆ
- เลือกกิจกรรมดีๆ ที่สนใจร่วมกันจริงๆ ไม่ใช่ เลือกกิจกรรมที่ชอบอยู่ฝ่ายเดียว สนุกอยู่คนเดียว อีกฝ่ายก็ไม่ไหวค่ะ
- มีเวลาสงบๆ ง่ายๆอยู่กับคู่บ้าง ไม่ใช่ ทำตัวยุ่ง ทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา เช่น นั่งเงียบๆสงบ สบาย ใกล้ๆกันก็ เป็นเวลาที่มีคุณภาพได้
- ไม่ควรทำสิ่งอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน เช่น ก้มหน้าเล่นมือถือตลอด หรือ ดูทีวี หรือ เล่นคอมพิวเตอร์ไปด้วย
มีหลายครั้งพบว่า ในยุคไอทีรุ่งเรือง เวลาคุณภาพของการอยู่ด้วยกันจริงๆกับด้อยลง เช่น หลายครั้งเราจะพบว่า คู่ของเราเวลาอยู่กับเรา แต่ก้มหน้ามองแต่มือถือ หรือ ตามองแต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา
ทำให้คนอยู่ด้วย ไม่ได้รู้สึกว่าอยู่ด้วยกันจริงๆ
เพราะ สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นมือถือ หรือ คอมพิวเตอร์ หรือ ทีวี มากกว่าตัวเราที่นั่งอยู่ตรงนี้
ทำให้เกิดความน้อยใจ และ รู้สึกว่างเปล่าในความสัมพันธ์ขึ้นได้
- ในเรื่องการสนทนา
• ใส่ใจ รับฟังคู่คุณอย่างตั้งใจ ไม่พูดขัดคอ หรือ รีบตัดบท
• รับฟังอย่างเข้าใจ
• รับรู้ถึงความรู้สึกในสิ่งที่เขากำลังบอกออกมา
• ใส่ใจสังเกตภาษากายของอีกฝ่ายบ้าง
แต่อย่ามากเกินไป เพราะอีกฝ่ายอาจรู้สึกอึดอัด หรือ เหมือนถูกจับผิดได้
• เปิดใจ แบ่งปัน ความรู้สึก ของตนเอง หรือ เรื่องราวของตนเอง จะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงความสนิทใจ ที่มีต่อกัน
แต่ไม่ใช่เล่าแต่เรื่องตนเองตลอดเวลา จนไม่ฟังเรื่องของอีกฝ่ายเลย

สิ่งที่ต้องระวัง: บาง คนต้องการเวลาคุณภาพจากคนรักมาก จนอีกฝ่ายรู้สึกว่าขาดอิสระในชีวิต เช่น ต้องไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด ต้องอยู่ด้วยกันตลอด การที่อีกฝ่ายต้องการเวลาของตัวเองบ้าง
ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รักนะคะ

เพียงแต่แต่ละคนต้องการพื้นที่ชีวิตความเป็นส่วนตัวไม่เท่ากันค่ะ บางคนต้องการมาก บางคนต้องการน้อยหน่อยค่ะ

3. ของขวัญ สิ่งของดีๆ (Gifts)
เป็นภาษารักที่สำคัญมากอีกอันหนึ่ง เช่น ของขวัญในวันสำคัญ หรือ การไปไหน แล้วมีของฝาก หรือ ซื้อของโปรดของชอบให้ หลายครั้งความสำคัญไม่ใช่เรื่อง ราคาของ แต่สิ่งสำคัญคือ ความนึกถึงกัน ใส่ใจกัน
ของขวัญ หรือ สิ่งของดีๆที่มอบให้กัน จีงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของความรัก ความห่วงใยที่มีให้กัน
สิ่งของชิ้นหนึ่ง อาจมีค่าไปตลอดชีวิตของคนๆหนึ่งเลยทีเดียวค่ะ

สิ่งที่ต้องระวัง: หลายครั้งบางคนให้ความรักเป็นสิ่งของเป็นวัตถุตลอดเวลา
เช่น มีพ่อบ้านมากมาย ที่ทำงานหนักมาก เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว และ มองว่าต้องมีสิ่งของวัตถุดีๆ
เพื่อทำให้ชีวิตครอบครัวสมบูรณ์ มือถือออกรุ่นใหม่ ต้องซื้อให้ลูกทุกครั้ง เพราะ นั่นคือ ความรักที่แสดงว่าพ่อรักลูก
แต่จริงๆ บางทีลูกอาจต้องการแค่เวลาคุณภาพจากพ่อบ้าง ภรรยาแค่ต้องการความใส่ใจห่วงใยบ้าง
แต่พ่อบ้านอาจไม่ได้ให้ เพราะ มัวแต่ยุ่งมุ่งกับภาษารักที่เป็นวัตถุสิ่งของ จนลืมไปว่าความรักที่จะให้มีได้อีกหลายแบบค่ะ

4. การดูแล ( Acts of service )
เช่น การดูแลเรื่องต่างๆ การบริการ เช่น ขับรถไปรับไปส่ง การทำอาหารให้ทาน การพาไปหาหมอเวลาไม่สบาย เป็นต้น
สิ่งที่ต้องระวังคือ : การดูแลมากเกินไป อีกฝ่ายอาจรู้สึกอึดอัดได้ค่ะ
เช่น บางคนดูแลมากทุกเรืองในชีวิต แม้กระทั่งยาสีฟันยังบีบให้ ซึ่งถ้าคู่คุณชอบ ถือว่ากำลังดีสำหรับคู่คุณค่ะ
แต่บางคนอาจไม่ได้ชอบการดูแลที่มากๆ อีกฝ่ายอาจอึดอัดได้เพราะรู้สึกว่าขาดความเป็นส่วนตัว ถูกก้าวก่ายในชีวิตเกินไปได้ค่ะ
สิ่งทีควรเป็น คือ
- ดูว่าคู่ของคุณต้องการการดูแลขนาดไหนค่ะ
บางคนชอบให้ดูแลมากๆ บางคนอาจไม่ชอบที่มากเกินไปค่ะ จัดให้พอดีๆกับคู่ของคุณค่ะ
5. การสัมผัส ทางกาย (Physical touch)
เช่น การจับมือ การกอด การโอบ การตบไหล่ การหอม การจูบ แม้กระทั่งเรื่องเพศสัมพันธ์
ซึ่งการบอกรักด้วยภาษาร่างกาย การสัมผัสมีพลังมากนะคะ
เช่น เวลาที่ต้องการกำลังใจ การตบไหล่ การลูบหลังเบาๆ ให้กำลังใจ บางทีมีพลังมากกว่าคำพูดอีกนะคะ
สิ่งที่ต้องระวัง คือ การสัมผัสทางกาย ไม่ใช่เรือง บนเตียง หรือ เพศสัมพันธ์อย่างเดียวค่ะ
ในหลายคน พอบอกว่า ส่งภาษารักด้วยการสัมผัสทางกาย จะคิดถึงเรืองเพศสัมพันธุ์ทันที
ซึ่งเพศสัมพันธ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
แต่การแสดงความรัก ความห่วงใยด้วยการสัมผัสมีอีกหลายอย่างมากค่ะ
เช่น การแสดงความรู้สึกดีๆด้วยการจับมือ การตบไหล่ การกอด เหล่านี้
เป็นภาษารักที่ทำให้คนที่ได้รับรู้สึกอบอุ่น และ มีพลังมากค่ะ
สิ่งที่ควรเป็น
- จัดให้เหมาะสมพอดีกับคู่ของเราค่ะ บางคนไม่ได้ชอบให้สัมผัสร่างกายมากมาย อาจทำให้อีกฝ่ายรุ้สึกอึดอัดรำคาญได้ค่ะ เหมือนถูกนัวเนียตลอดเวลา
แต่ขณะที่บางคนชอบและรู้สึกดี ดังนั้นจัดให้พอดีกับคู่ของตัวเองนะคะ

เคล็ดไม่ลับความเข้าใจใน(ภาษา)รัก
- ในแต่ละคนจะมีภาษารักไม่เหมือนกัน และ ชอบภาษารักที่แตกต่างกัน
- คนส่วนใหญ่ล้วนอยากได้ภาษารักทั้ง 5 อย่างจากคนที่เรารัก แต่ระดับการอยากได้ในแต่ละแบบอาจไม่เท่ากัน
- ลองถามตัวเองนะคะ ว่าเราอยากได้ภาษารักแบบไหนมากที่สุด เชื่อว่าแต่ละคนจะมีอยู่ในใจหลักๆกันไปคนละแบบ 2 แบบ อ่ะนะคะ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของตัวเองมากขึ้น
- ลองสังเกตดูว่า คนรักของเรา ชอบภาษารักแบบใด เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในกันและกัน และดูแลกันอย่างเหมาะสม
- จัดให้พอดี และ ถูกจังหวะ ที่เขาเรียกว่า “คิดถึงใจเขา-ใจเรา” ค่ะ
- ด้วยความที่แต่ละคนมีภาษารักไม่เหมือนกัน หลายคู่จึงเกิดปัญหาได้ค่ะ
ทั้งที่รักกัน แต่ด้วยภาษารักที่ไม่ตรงกัน ทำให้บางคู่กลายเป็นหมางใจกัน
เพราะ เข้าใจว่าอีกฝ่ายไม่เคยให้ภาษารักแบบนี้กับตนเองเลย แปลว่าไม่รักตน
หรือ รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าอีกฝ่ายไม่รับรู้ความรักของตน ที่เพียรพยายามให้ตลอดมา เป็นต้น
เลยกลายเป็นว่าจากคนที่รักกันมากๆ กลายเป็นคนที่ไม่รักกันมากๆ ไปได้
ด้วยความไม่เข้าใจในภาษารักของอีกฝ่ายค่ะ

ขอยกตัวอย่าง : ชายหนุ่ม กับหญิงสาว คู่หนึ่งนะคะ

หญิงสาว : ภาษารักของเธอคือ คำพูด (word of affirmation, appreciation)
ชายหนุ่ม : ภาษารักของเขาคือ การดูแล ( Acts of service )

หญิงสาว น้อยใจสามีมาโดยตลอด แต่งงานกันมา 2 ปี มองว่าสามีไม่เคยรักตน
เพราะสามีไม่เคยพูดคำว่ารักเลย เวลาถามว่ารักเธอไหมสามีไม่ตอบ หรือ เฉยๆไป และ ไม่เคยพูดคำดีๆ หวานๆ ให้กัน
และ ไม่เคยชื่นชมอะไรในตัวเธอเลย
บางครั้งเวลาที่ทำผิดไปบ้างยังโดนสามีเอ็ดอยู่บ่อยๆ ทำให้เธอรู้สึกเสียใจ เจ็บช้ำน้ำใจกับคำพูดของสามี

ขณะที่ทางฝ่ายสามีนั้นจริงๆรักภรรยามาก
แต่เป็นคนไม่ชอบพูด บุคลิกแข็งๆ พูดชมใครไม่เป็น พูดจาหวานๆ อ่อนโยนไม่เป็น
และ มองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ คำพูดมันตื้นเขิน และ จะโกหกอย่างไรก็ได้
ดังนั้นเขาแสดงความรักด้วยการดูแลภรรยาต่างๆ เช่นการไปรับไปส่ง เวลาภรรยาไปไหนจะขับรถให้เสมอ เวลาเห็นภรรยาไม่สบายจะดูแลเรื่องอาหารการกินและพาไปหาหมอ เป็นต้น

แต่ไม่เคยพูดจาให้กำลังใจเลย เพราะมองว่าไม่จำเป็น มองว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
และ ด้วยความห่วงใยภรรยาบางครั้งจึงเอ็ดภรรยาเวลาที่เธอทำผิด
ด้วยเจตนาที่ดีและห่วยใยว่าไม่อยากให้เธอทำผิดอีก
ณ จุดนี้ ทำให้ภรรยาน้อยใจอยู่เรื่อยๆ

และ เข้าใจว่าที่สามีทำดีด้วยการดูแลตนมาตลอดเพราะทำตามหน้าที่ของสามีที่ดีเท่านั้น
ภรรยาจึงไม่สามารถสัมผัสความรักจากสามีได้เลย

ซึ่งคู่นี้เป็นหนึ่งในอีกๆหลายคู่ที่มีภาษารักไม่ตรงกันทำให้หมางใจกันในที่สุดค่ะ

ภาษารักส่งท้ายนะคะ
- ความเข้าใจในภาษารัก ว่ามี อย่างน้อย 5 แบบดังกล่าวข้างต้น
ช่วยให้หลายคู่สัมผัสความรักของอีกฝ่ายได้มากขึ้น หายสงสัยว่าเขารักเราหรือเปล่า รวมถึงตัวเราเอง ที่จะส่งภาษารักให้พอดีกับคู่ของเรานะคะ ไม่มากไม่น้อยเกินไปค่ะ
- ภาษารักไม่ใช่เฉพาะกับความรักแบบคู่รักเท่านั้นนะคะ กับ ทุกความรักเช่น คุณพ่อ คุณแม่ ลูกๆ พี่ น้อง และเพื่อนๆ ก็่ใช้ภาษารักเช่นกันนะคะ
- การสื่อภาษารักที่เหมาะสมและเข้าใจภาษารักของอีกฝ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ ทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้อย่างมากค่ะ
- ภาษารัก 5 ข้อไม่ใช่สูตรสำเร็จ ว่าทำทั้ง 5 ข้อแล้วชีวิตรักของคุณจะดีขึ้น (ถ้าปราศจากใจ)
 ภาษารักจะทรงพลังและมีคุณค่าที่สุด เมื่อสิ่งเหล่านี้ ทำด้วยใจ ออกมาจากใจ ทำด้วยความรักและความปรารถนาดีต่อกันนะคะ

เข้าใจในภาษารัก ของเธอ ของฉัน ความสัมพันธ์(ของเรา)แน่นแฟ้นค่ะ          

บทความโดย ผศ.พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  รพ.รามาธิบดี

ภาพประกอบจาก: http://www.2-in-2-1.co.uk/tips/whatlove.html