วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

#4วิธีดูแลจิตใจคนรอบข้างในช่วงการเมืองวุ่นวาย



หลังจากที่ทราบ สาเหตุ และ ผลกระทบด้านจิตใจ จากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง
ใน #ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลต่อจิตใจอย่างไร

และ ทราบแนวทางการดูแลตัวเอง ในสถานการณ์เหล่านี้
ใน #7วิธีดูแลใจตัวเองในช่วงการเมืองวุ่นวาย

ในตอนนี้ จะกล่าวถึง แนวทางการดูแลคนรอบข้าง คนใกล้ต้ว หรือ คนในสังคมกันนะคะ

การดูแลคนรอบข้าง
กรมสุขภาพจิตได้แนะนำไว้ 4 ข้อนะคะ

1. รับฟัง

เป็นขั้นตอนแรก ที่สำคัญมากค่ะ
เพราะ ทุกวันนี้ที่ขัดแย้งกัน ทะเลาะกัน หมางใจกัน
ส่วนหนึ่งเพราะขาดการรับฟังกันค่ะ

เพราะ เราบางครั้ง ใจเราก็เผลอมีอคติ (รู้ตัวบ้าง ไม่รู้ต้วบ้าง)
ยึดถือแต่ความคิดตนเองบ้าง เราจึงไม่ค่อยฟ้งกันเท่าไหร่ค่ะ ^^"

การรับฟัง และ รับฟังอย่างเข้าใจ
เคารพความคิดของกันและกัน
ฟังโดยวางการตัดสิน
ฟังโดยวางอคติที่เกิดขึ้น ขณะที่ฟัง

จึงเป็นต้นทางของการเยียวยาใจกันกับคนรอบข้าง กับคนในสังคมค่ะ

2. ชื่นชม

แม้อีกฝ่ายความคิดเห็นอาจไม่ตรงกับเรา
หรือ แม้อยู่ฝ่ายเดียวกัน แต่ในรายละเอียดอาจเห็นต่างจากเรา
เราฟังแล้วอาจเผลอหงุดหงิดใจ

การฝึกเปิดใจกว้างๆ รับฟังความคิดเห็นของอีกฝั่ง
บางทีสิ่งที่เขาคิด ก็มีด้านดีๆ อยู่ ที่เราอาจมองไม่เห็นในตอนต้น
เพราะ เชื่อและปักใจกับความคิดของตนเองอย่างมาก
จนมีอคติและการตัดสินบังตาอยู่

การเปิดใจ ทำให้เราเองได้ความรู้ใหม่ๆ
เข้าใจอะไรกว้างขึ้น เป็นกำไรหนึ่งของการใช้ชีวิต
เพราะการติดอยู่กับกรอบเดิมๆ มากเกินไป
อาจทำให้เราอยู่ในโลกที่แคบลง

เมื่อเราเปิดใจมากขึ้น มองเห็นด้านดีๆ ของความคิดที่แตกต่าง
การชื่นชม จะด้วยความรู้สึก คำพูด สีหน้า แววตาท่าทาง
ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศทีดีๆ
เกิดความวางใจ และ เกิดความรู้สึกยอมรับในกันและกันค่ะ

3. ห่วงใย ให้กำลังใจ

เพราะช่วงเวลาที่จิตตก ความห่วงใยและกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญมาก
เพราะ อย่างที่่กล่าวในตอนที่ 1 นะคะ
ผลจากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง มีผลกระทบกับจิตใจได้มาก

บางคนอาจบอกเราออกมา ขณะที่บางคนอาจไม่พูดอะไร
แต่จริงๆข้างในรู้สึก

การให้ความห่วงใย ใส่ใจกันและกัน
ให้กำลังใจกันและกัน

เหมือนเป็นยาวิเศษที่ชโลมใจ ในยามที่รู้สึกจิตใจรู้สึกแห้งผาก
อ่อนระโหยโรยแรง จากความเรื้อรั้งของเหตุการณ์วุ่นวาย
จนทำให้ใจอ่อนล่า อ่อนเพลียได้อย่างมากค่ะ

การแสดงความห่วงใย ใส่ใจ ถามไถ่ ส่งกำลังใจให้กัน
ด้วยคำพูด ด้วยแววตา สีหน้าท่าทาง ที่ออกมาจากใจ

จะช่วยให้จิตใจที่กำลังห่อเหี่ยวกลับมามีเรี่ยวแรง มีชีวิตชีวา อีกครั้งได้ค่ะ

4. คำแนะนำ

ในเวลาที่สภาพจิตใจย่ำแย่ หลายคร้้งจะหาทางออกไม่ได้
เพราะ มองไม่เห็นทางออก มองเห็นแต่ทางตัน

การให้คำแนะนำ จึงมีความสำคัญค่ะ
เพราะเป็นการช่วยชี้ทางสว่าง ให้เห็นทางออกได้ค่ะ

แต่ควรทำเป็นลำดับสุดท้ายค่ะ ทำเมื่อเข้าใจปัญหาเขาแล้ว
เพราะถ้าทำตั้งแต่ต้น จะทำให้คนที่กำลังเครียด
รู้สึกว่าเราไม่เข้าใจเขา และ ไม่อยากรับฟังเขาได้ค่ะ
เพราะ หลายครั้งเราอาจแนะนำไปไม่ตรงกับปัญหาของเขาก็มีค่ะ
เพราะ เรายังไม่ทันเข้าใจปัญหาของเขาดีพอค่ะ

การรีบให้คำแนะนำ อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกแย่ มากกว่า ความรู้สึกดีค่ะ

แต่ในบางครั้ง บางคนอาจไม่ต้องการคำแนะนำนะคะ
ต้องการเพียงคนรับฟัง รับฟังอย่างเข้าใจค่ะ
แค่นั้นก็รู้สึกดีมากๆแล้วค่ะ

ณ จุดนั้น คำแนะนำอาจไม่จำเป็นค่ะ

การดูแลกันและกัน นอกจากทำให้คนรอบข้างมีความสุขมากขึ้น
ตัวเราก็มีความสุขมากขึ้นไปด้วยค่ะ
เพราะ บรรยากาศรอบตัวดีขึ้น
และ ยิ่งเป็นคนที่เรารัก ถ้าเราทำให้เขามีความสุข เราเองก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นค่ะ

การเข้าใจในกันและกัน เห็นใจกัน
ช่วยกันดูแลกันและกัน เป็นสิ่งที่สำคัญมาก
เพราะ ขณะนี้ทุกคนตกอยู่ในเรือลำเดียวกัน ลำที่ไม่รู้ว่าประเทศจะไปทิศไหนเหมือนกัน

การเมตตาต่อกันจะช่วยให้เรือลำนี้รอดมากขึ้น

ขณะที่เหตุการณ์ทางการเมืองยังวุ่นวาย
แต่เราสามารถช่วยกันดูแล
จิตใจของตนเอง
จิตใจของคนอื่น
และ จิตใจของคนในสังคม ไม่ให้วุ่นวาย สับสนตามการเมืองได้นะคะ

เป็นกำลังใจให้กับคนไทยทุกคนนะคะ

พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล



เครดิตภาพ : http://www.lowestoft.ac.uk/college-courses/access-to-higher-education/access-to-social-work-and-social-care-professions-level-3.aspx

#7วิธีดูแลใจตัวเองในช่วงการเมืองวุ่นวาย



จากตอนที่แล้ว
#ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลต่อจิตใจอย่างไร
ได้กล่าวถึงผลกระทบด้านจิตใจและสาเหตุ ที่ทำให้ใจเราไม่สงบ เกิดความปั่นป่วนใจตลอดเวลา จากเหตุการณ์ทางการเมือง

ในตอนนี้ จะกล่าวถึง ว่าเมื่อเกิดความปั่นป่วนใจ
เราจะมีวิธีดูแลจิตใจตนเอง และ คนรอบข้างได้อย่างไรบ้างค่ะ

การดูแลตนเอง
1. การรับข่าวสาร ควรรับฟังข่าวสารอย่างมีสติ ฟังหู ไว้หู

เพราะกระแส social media เช่น facebok หรือ line หรือ twitter เรื่องทุกอย่างส่งต่อกันอย่างรวดเร็ว การกลั่นกรองก่อนส่งแทบไม่มี

ดังนั้นเป็นวิจารณญาณของผู้รับสาร ที่จะต้องรับสารอย่างมีสติ และ กลั่นกรอง ก่อนเชื่อ ก่อนอิน ไปกับข้อมูลข่าวสาร

การอินข้อมูลโดยขนาดสติ ขาดการกลั่นกรอง ยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆได้มากค่ะ

2. ระวัง “อคติ”
ในทางพุทธกล่าวถึง อคติ ไว้ 4 อย่าง คือ
อคติเพราะความรัก
อคติเพราะความชัง
อคติเพราะกลัว
และ อคติเพราะความไม่รู้

เนื่องจากโลกยุคข่าวสารหลั่งไหล มีข้อมูลหลายอย่างที่กระตุ้นอารมณ์มาก ทั้งความรัก(พวกตน) และ ความเกลียดชัง(ฝ่ายตรงข้าม)
แต่หลายครั้งขาดข้อเท็จจริง

ดังนั้นเมื่อเสพข้อมูลข่าวสาร ควรระวัง อคติ 4 อย่างนี้ในใจเสมอ

เพราะ สงครามกลางเมืองในหลายประเทศ เกิดจากความอคติเหล่านี้ ทั้งความรัก (พวกตน) และ ความชัง (พวกตรงข้าม)
เกิดจากอคติจากความหลง ความไม่รู้ ว่าตนเสพข่าวสารเท็จ
ที่แต่งให้ดราม่า น่าสะเทือนใจ เพิ่มดีกรีความรัก ความชัง เสี้ยมกันไม่หยุดหย่อน

จนทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่แสนสะเทือนใจในหลายประเทศ

เช่น ที่รวันดา (ค.ศ. 1994) หรือ ที่ประเทศไทย เหตุการณ์ 6 ตุลา คนในชาติเดียวกันลุกขึ้นมาฆ่ากันเอง จากความเกลียดชังกัน จา่กข้อมูลเท็จที่ใส่ความกัน เป็นต้น

สิ่งที่ต้องระวังคือ คนที่รู้สึกว่าตนเป็นกลาง แต่จริงๆแล้วมีอคติอยู่แต่ไม่รู้ตัว จึงยิ่งน่ากลัว
เพราะ ในปุถุชน มีรัก โลภ โกรธ หลง ประจำใจ
ไม่มีทางที่จะเป็นกลางได้อย่างแท้จริง
เพราะความรัก ความชัง ล้วนมีอยู่แล้วในตัวปุถุชนที่ยังมีกิเลสทุกคน

สำคัญคือการรู้ทันความรัก รู้ทันความชัง ที่เกิดขึ้นในใจ
ฝึกรู้ทันบ่อยๆ
จะช่วยลด อคติ ที่เกิดขึ้นได้ค่ะ
เมื่ออคติลดง การกระทำที่ถูกต้อง(จากการมีสติ) ถึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงค่ะ

3. ลดการตัดสินตนเองและคนอื่น

การตัดสินตนเองมาก ทำให้รู้สึกผิดง่าย มากเกินไป
การตัดสินคนอื่นมาก ทำให้รูสึกโกรธกับสิ่งต่างๆ และคนอื่นๆ ง่าย มากเกินไป
และ บางทีเราก็ตัดสินผิด เพราะ เข้าใจผิดก็มากค่ะ

การตัดสินล้วนแต่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบมากกว่าอารมณ์ด้านบวก
และส่งผลต่อความสัมพันธ์ ที่ไม่ดี ทั้งกับตนเอง และ คนอื่นๆ

ลดการตัดสินตนเองและคนอื่นลงบ้าง
จะช่วยให้ความรู้สึกของเราและคนอื่นดีขึ้นได้ค่ะ

4. ลดการเสพข่าวสาร
ยิ่งเสพข่าวสารมากยิ่งกระตุ้น อารมณ์ต่างๆที่อย่างกล่าวข้างต้นได้มากค่ะ หรือ
ถ้าช่วงนั้นเครียดไม่ไหวจริงๆ งดการเสพข่าวสารชั่วขณะ เพราะเรื่องใหญ่ๆ อย่างไรเราต้องรู้อยู่แล้วค่ะ
ส่วนเรื่องเล็กๆก็ช่างมันไปก่อนค่ะ
เพราะ ถึงรู้ กับ ไม่รู้ ผลในการดำเนินชีวิตอาจไม่ต่างกันค่ะ

5. หาเวลาพักผ่อนในแบบอื่นๆ นอกจากการเล่น social media
เพื่อลดการเสพข่าวสารที่กระตุ้นอารมณ์

การพักผ่อนในแบบอื่นๆ ทำให้จิตใจได้เบิกบานผ่อนคลาย
มีผลดีกับสุขภาพกายและใจมากกว่าค่ะ

เช่น การออกกำลังกาย การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ
การอ่านหนังสือเล่มโปรด การดูหนัง ฟังเพลง การพบปะสังสรรค์ กับเพื่อนๆ การหากิจกรรม งานอดิเรก กับเพื่อน กับคนในครอบครัว
ได้พักผ่อนจริงๆทั้งกายและใจ และ ได้สร้างความสัมพันธ์ดีๆด้วยค่ะ

6. ระวังความคิด ความมโน ของตนเอง

บางเรื่องยังไม่ได้มีอะไรมาก แต่ความคิด ความมโน ของเราเอง ทำให้ทุกข์ไปมากค่ะ ฝึกการรู้ทัน ความคิด ความมโน ของตนเองนะคะ

หางานอดิเรกทำ อย่าปล่อยเวลาให้ว่างๆ
เพราะเวลาว่างหลายคนจะยิ่งคิดมากค่ะ เวลาว่างทำให้ยิ่งฟุ้งซ่านง่ายขึ้นค่ะ
ตอนแรกหลายคนบอกว่าไม่ได้ทุกข์ใจอะไร
แต่พอมีเวลาว่างนั่งคิดนู่นนี่ไปเรื่อยๆ จู่ๆก็ทุกข์ขึ้นมาค่ะ จากความคิดที่ฟุ้งๆไปของตนเองค่ะ

7. ลดความคาดหวังที่สูงเกินไป

เจตนาที่ดีที่อยากเห็นประเทศดี มีการพัฒนาเป็นสิ่งที่ดีค่ะ
แต่ถ้าคาดหวังไว้มากในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมยังไม่เอื้อ
จะทำให้ผิดหวัง ท้อแท้ เสียใจ และ โกรธเคืองทุกสิ่งได้มากค่ะ

ความต้องการดูแลบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ามากไปจะเป็นทกุข์ได้ค่ะ
ดังนั้นการหันกลับมาดูแลตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ

เพราะ ถ้าเราแต่ละคนสภาพจิตใจแย่กันไป บ้านเมืองก็คงจะลำบากเหมือนกันค่ะ
บ้านเมืองจะดีหรือไม่ ขึ้นกับคุณภาพกาย คุณภาพใจของคนในประเทศค่ะ

ดังนั้นดูแลบ้านเมืองแล้ว อย่าลืมดูแลตัวเองด้วยนะคะ

หลังจากดูแลตัวเองแล้ว เราสามารถดูแลคนรอบข้างได้นะคะ
ตามลิงคนี้ค่ะ
#4วิธีดูแลจิตใจคนรอบข้างในช่วงการเมืองวุ่นวาย
 

#ความวุ่นวายทางการเมืองส่งผลต่อจิตใจอย่างไร



ความวุ่นวายทางการเมือง นอกจากส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ การดำเนินชีวิตในสังคมแล้ว
ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจได้อย่างมากด้วยค่ะ

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยที่ผ่านมา ในช่วงหลายปีมานี้ และในช่วงปีนี้ที่มีเหตุการณ์หลายอย่าง
ทำให้สภาพจิตใจของคนไทยหลายๆคน ได้รับผลกระทบกันไปต่างๆกัน
มากบ้างน้อยบ้าง
แล้วแต่สิ่งที่ตนเองได้รับผล และความใส่ใจกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

เรามาดูผลกระทบทางจิตใจที่เกิดขึ้นได้ จากเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองนะคะ

1. ความวิตกกังวล
สาเหตุ
เหตุการณ์ที่หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่รู้จะไปทิศทางใด ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงขึ้นในใจ
กระตุ้นมโนด้านลบไปได้มาก สร้างความรู้สึกวิตกกังวลได้อย่างมาก

หรือ ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถ้าคนใกล้ตัวเป็นคนละฝ่ายกับเรา เราเห็นไม่เหมือนเค้า เกรงการทะเลาะเบาะแว้ง เกรงเขาจะไม่โอเคกับเรา ถ้าเห็นต่างกัน จึงเกิดความวิตกกังวลได้

หรือวิตกกังวลว่าคนที่ตนรักจะได้รับบาดเจ็บ เดือดร้อน จากไปร่วมชุมนุมทางการเมือง

2. ความรู้สึกซึมเศร้า
สาเหตุ
เหตุการณ์ที่ยืดเยื้อหาทางออกไม่ได้ กระตุ้นความรู้สึกสิ้นหวังได้มากค่ะ ทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ได้

ยิ่งถ้าใครมีผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น อาชีพการงาน การทำธุรกิจที่ถูกผลกระทบเข้าไปอย่างจัง อาจยิ่งเพิ่มดีกรีความรู้สึกเศร้าและหดหู่ได้มากค่ะ เพราะมีผลความอยู่รอดด้วยค่ะ

3. ความโกรธ
สาเหตุ
จากความเกลียดชัง หรือ ความหงุดหงิดรำคาญ ที่มีต่ออีกฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วยกับแนวคิด
หรือ จากความผิดหวัง ที่มีต่อคนที่เราคาดหวังไว้มาก แล้วเขาไม่เป็นอย่างหวัง

เหล่านี้กระตุ้นอารมณ์โกรธ จนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ทั้งคำพูด การแสดงออก ท่าทางสีหน้า หรือ เข้าไปทำร้ายกันจนบาดเจ็บ

4. ความกลัว
สาเหตุ
จากความที่เหตุกาณ์ที่ไม่มีความแน่นอน มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ ควบคุมได้ยาก และ หาที่พึ่งพิงไมได้
ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยของการใช้ชีวิต
กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นได้

5. ความรู้สึกผิด
สาเหตุ
ด้วยสถานการณ์ที่เร้า และเต็มไปด้วยความคาดหวังถึงชัยชนะ ต้องการทุกเสียงแสดงพลังประชาชน ในการสนับสนุนพวกตน และ ต่อต้านฝั่งตรงข้าม

ทำให้บางคนอาจรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ฝ่ายตนเรียกร้องให้ออกมา เช่น การชุมนุมเดินขบวน
ส่งผลให้รู้สึกเหมือนตนเองทำผิด ต่อเพื่อน ต่อคนรัก ต่อคนในครอบครัว กระทั่งต่อชาติ ที่ตนไม่ได้ทำอย่างที่ฝ่ายตนคาดหวัง

หรือ บางคนรู้สึกผิดที่พาคนอื่นไปร่วมชุมนุมแล้วเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น ทำให้คนที่ตนพาไปบาดเจ็บหรือเดือดร้อน เกิดความรู้สึกผิดได้

6. ความรู้สึกแปลกแยก
สาเหตุ
ความเห็นต่าง ทำให้หลายคนรู้สึกแปลกแยกโดดเดี่ยว ไม่เป็นที่ยอมรับ ของเพื่อน ของคนรัก ของครองครัว และ ของสังคมที่ตนอยู่

7. ความรู้สึกผิดหวัง เจ็บปวด
สาเหตุ
จากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่เป็นไปอย่างที่ตนวาดหวังไว้
หรือ เกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่าที่ตนคิดไว้

8. ความรู้สึกเก็บกด
สาเหตุ
สถานการณ์ที่ต่างฝ่าย ต่างยึดถือความคิดตนเอง อย่างรุนแรง และ แทบไม่ฟังความคิดความเห็นของอีกฝั่ง
ทำให้บางคนไม่กล้าแสดงความคิด ความเห็น ความรู้สึกใดๆ ออกมาเกรงจะไม่เข้าพวก
เกรงจะไม่เป็นที่รักและยอมรับของคนใกล้ตัว คนในสังคมที่ตนอยู่
เลยต้องเก็บกดความรู้สึก ความคิดเห็นและความปรารถนาของตนเองลงไป

9. เกิดความรู้สึกเป็นฮีโร่
สาเหตุ
เกิดจากสถานการณ์ที่กำลังย่ำแย่ กระตุ้นความรู้สึกว่าเราต้องเขากู้สถานการณ์ เพื่อผดุงความถูกต้อง ความยุติธรรมเพื่อให้ทุกอย่างออกมาตามอุดมคติ
เพราะ มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันแย่ และ ต้องการคนเข้ามากู้วิกฤติ

10. เกิดความรู้สึกฮึกเหิม
สาเหตุ
สถานการณ์ที่กระตุ้นความรู้สึกรักชาติ หรีอ กระตุ้นความรู้สึก “พวกเราร่วมกัน ต่อต้านพวกมัน” ทำให้เกิดความรู้สึกฮึกเหิมได้มากค่ะ
การเจอคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน รักสิ่งเดียวกัน เกลียดสิ่งเดียว เป็นความรู้สึกหลอมรวม รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกถึงการยอมรับที่มีต่อกันและกัน ทำให้เกิดความรู้สึกเติมเต็มและอิ่มอกอิ่มใจได้อย่างมากค่ะ

จากผลกระทบด้านจิตใจดังที่ได้กล่าวมา มีทั้งความรู้สึกด้านลบ และ ความรู้สึกด้านบวก
แต่ผลทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อจิตใจ
คือ ทำให้จิตใจขาดความสงบสุข เกิดความปั่นป่วนภายในใจได้ตลอดเวลา ทั้งตัวเราเองและคนรอบข้าง

ส่วนแนวทางการดูแลตัวเอง และ คนรอบข้าง ติดตามได้ตามนี้นะคะ
#7วิธีดูแลใจตัวเองในช่วงการเมืองวุ่นวาย

#4วิธีดูแลจิตใจคนรอบข้างในช่วงการเมืองวุ่นวาย

พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล



เครดิตภาพ : http://www.citypress.co.za/politics/political-unrest-thai-election-commission-recommends-election-delay/

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ชีวิตที่ดี....คืออะไร

ชีวิตที่ดี สำหรับแต่ละคน
คงให้คำนิยามไม่เหมือนกัน
แล้วแต่แต่ละคนให้คุณค่ากับอะไรนะคะ

บางคนอาจให้คุณค่ากับการมีการงานดี มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เป็นคนเด่นดังในสังคม
บางคนอาจให้คุณค่ากับการมีอำนาจ มีคนยำเกรง มีคนคอยเอาอกเอาใจ พินอบพิเทา
บางคนให้คุณค่ากับเรื่องมีฐานะ ร่ำรวย
บางคนให้คุณค่ากับเรื่องการมีเพื่อนมากมาย มีสังคมที่รักเรามากมาย

บางคนให้คุณค่ากับการมีครอบครัวที่อบอุ่น

บางคนให้คุณค่าให้กับการมีแฟน มีคู่ชีวิต
บางคนให้คุณค่ากับการมีชีวิตที่เป็นอิสระ ทำอะไรก็ได้อย่างที่อยากทำ

บางคนให้คุณค่ากับการมีชีวิตที่สันโดษ
ฯลฯ


จริงๆสิ่งที่ทุกคน ใฝ่ฝันย่อมเป็นสิ่งดีๆ ทั้งนั้น

ถ้าเราได้ (อย่างที่หวัง ) เราคงมีความสุข
แต่จะมีสักกี่คนที่ได้สมหวังดังใจหมาย


หรือ บางครั้งพอได้มาแล้ว แรกๆก็ฟินดี
แต่สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าที่ได้มา เฉยๆ ไม่ตอบโจทย์แล้ว
อยากได้มากกว่านี้ ^^"

จึงพบว่า หลายคนมีชีวิตที่ไม่เคยรู้สึกสมหวังสักที
และ มองว่าชีวิตที่ตนมียังไม่ดี สักที

ยิ่งถ้าชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ยิ่งรู้สึกขาดพร่องไปกันใหญ่เลย ><"

อย่างนั้นชีวิตที่ดี จริงๆคือ อะไร

ในทางจิตวิทยา

ชีวิตที่ดี คือ ความรู้สึกที่เต็มอิ่มภายใน ไม่รู้สึกขาดพร่อง
หรือ ต้องคอยโหยหาอะไรมาเติมอยู่เรือยๆ

ถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว การมีอะไรภายนอก อาจไม่ใช่คำตอบ
แม้ว่าสิ่งภายนอก อาจเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เรารู้สึกเต็มอิ่มภายใน
แต่ไม่ทั้งหมด เพราะ

หลายครั้งเราคงเห็นแล้วว่า
ชีวิตเรามีทุกอย่างที่น่าจะมีความสุข ที่น่าจะพึงพอใจในชีวิตได้สักที
แต่เรากลับยังไม่มีความสุข

หรือ เราอาจเคยเห็นคนอีกหลายคนที่มีทุกอย่างเพียบพร้อมในสายตาเรา
เขากลับไม่มีความสุข และ ไม่หยุดดิ้นรน ที่จะหาอะไรมาเติมเต็มใจเขาอยู่ตลอดเวลา
ทั้งเหนื่อย ทั้งทุกข์ แต่เขาก็หยุดไม่ได้
หรือ บางที เขาเหล่านั้น ยังพร่ำบ่นว่า ชีวิตมันแย่.... !!?

ดังนั้นชีวิตที่ดี คือ อะไร ?

"ชีวิตที่ดี.....ไม่ใช่ชีวิตที่มีทุกอย่างโอเค

แต่เป็นชีวิตที่โอเค.......ในทุกอย่างที่มี"

^____^


เมื่อเราสามารถ โอเค ในทุกอย่างที่มี ความเต็มอิ่ม จากภายใน เกิดขึ้นได้เอง

โดยไม่ต้องอาศัยองค์ประกอบภายนอกมากมาย

แม้องค์ประกอบภายนอกมีผลอยู่บ้าง แต่ถ้าเราไปยึดติดกับสิ่งดีๆเหล่านี้มาก
สิ่งดีๆ เหล่านี้ จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราทุกข์

เราลองมาดูกันนะคะ ว่าความรู้สึกว่า "โอเค" จะเกิดขึ้นในใจเราได้อย่างไร


ความรู้สึกโอเคเกิดขึ้นได้จาก 3 สิ่งนี้ค่ะ

1. ยอมรับ.....สิ่งที่มี

2. ชื่นชม........ ในสิ่งที่มี

3. เห็นคุณค่า.... ในสิ่งที่มี



ถ้าเราสามารถ ยอมรับ ชื่นชม เห็นคุณค่า ในสิ่งที่มี ในสิ่งที่เป็น

ทั้งชีวิตต้วเองในอดีต....
ทั้งชีวิตตัวเองในปัจจุบัน....
แน่นอนว่า
เราจะเกิดความรู้สึกดีๆ กับ ชีวิตของตนเองในอนาคตแน่นอนค่ะ

เมื่อความรู้สึกพอใจในชีวิตเกิดขึ้น....
เมื่อนั้นชีวิตที่ดี ก็เกิดขึ้นในจังหวะนั้น จังหวะที่เรากลับมาพอใจในชีวิตของตัวเราค่ะ \\(^+^)//


แม้หลายคนอาจมีอดีตที่ไม่อยากจดจำ หรือ เจ็บปวด

แต่การที่เราจมและเห็นมันแต่แง่ลบ

ทำให้ใจเราเศร้าหมองไปเปล่าๆค่ะ

แต่ถ้าเราสามารถที่จะยอมรับมันอย่างที่เป็น
ชื่นชมกับสิ่งดีๆที่มีอยู่(ซึ่งเราอาจเคยมองข้ามไป)
และ เห็นคุณค่าในตัวเอง ในการเรียนรู้ชีวิต

เพราะ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายเท่าไหร่

เราผ่านมันมาได้

เราลองมองมาที่คุณค่าในตัวเรา ในพลังชีวิต
และ ความตั้งใจดีที่อยู่ภายในตัวเรา รวมถึงคนรอบข้าง

และ นั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่เราจะทำให้กับตัวเราเอง ในภาวะนั้นๆ

และ เราก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง (ที่มีค่า) จากมัน


ในทางตรงข้าม ถ้าเราไม่เคยพอใจอะไรในชีวิต

ต่อให้มีอะไร ต่อมิอะไรมากมาย

แม้คนภายนอกจะเฝ้าพร่ำบอกว่าดีแล้ว โอเคมากแล้ว

เราก็ไม่เคยรู้สึกว่าดีสักที... ชีวิตเราก็เลยไม่เคยดีสักทีค่ะ


ดังนั้น
"ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ชีวิตที่มีแต่สิ่งดีๆนะคะ
แต่เป็นชีวิตที่ สามารถยอมรับในสิ่งที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นได้"
ต่างหากค่ะ :)








พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล


 


เครดิตภาพ:
http://iamviable.org/cody-the-overcomer/

































Credit ภาพ : http://exclusive-articles.blogspot.com/2012/08/handicapped-someone-with-sports-1.html


วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คุณค่าของความผิดหวัง

ขึ้นชื่อว่าความผิดหวัง
ไม่มีใครอยากเจอ
เราถูกโปรแกรมมาว่า ต้องสมหวังตลอด 

เพราะ ความสมหวังทำให้เรามีความสุข 
รู้สึกชนะ รู้สึกตัวเองมีคุณค่า
และ ดูดีเป็นที่ยอมรับของสังคม ^^" 
ความผิดหวัง ทำให้เรา เศร้า เจ็บปวด รู้สึกพ่ายแพ้ เสียความมั่นใจในตัวเอง
สังคมก็มองว่าแย่ ทำให้รู้สึกอัปยศชอบกล


จึงทำให้เรายอมรับความผิดหวังได้ยาก -.-"

แต่จริงๆแล้ว ความผิดหวังให้อะไรมากกว่าที่เราคิด
ให้สิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิต กับจิตใจ และ การเติบโตด้านใน
บางทีมีคุณค่ามากกว่าความสมหวังด้วยซ้ำ

เพราะ หลายครั้ง ความสมหวัง ทำให้เรา เสียคน ทนกับอะไรไม่ได้ บางทีทำให้เรากลายเป็นคนอ่อนแอ 

ชีวิตคือการเรียนรู้ ทุกรอยบาดแผลแห่งความผิดหวัง ให้ความรู้ใหม่ๆกับเราเสมอ

และ เป็นความรู้ใหม่ๆที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง
เพราะ ทำให้เราเติบโตขึ้น

เพราะอะไร ความผิดหวัง จึงทำให้เราเติบโตขึ้น


มีคนกล่าวว่า ที่เราผิดหวัง เพราะ เราหวังผิด... 

เราหวังในสิ่งที่ผิดไปจากความเป็นจริง.... เราจึงผิดหวังนั่นเอง

ทุกรอยบาดแผลจากความผิดหวัง จึงมีค่ายิ่ง ...........เพราะทำให้เราได้เห็นโลกตรงตามความเป็นจริงมากขึ้น

แม้จะเจ็บปวด แต่ ทำให้เราตาสว่าง


เราได้เติบโต และ เป็นคนที่สมบูรณ์แบบมากขึ้นจากสิ่งนี้ 

เมื่อมองย้อนกลับไป 
 หลายครั้ง .... เราต้องขอบคุณความผิดหวังเหล่านี้ 
ที่ทำให้เราเข้าใจโลกใบนี้มากขึัน  
เข้มแข็งมากขึ้น 
และใช้ชีวิตได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น จนทำให้เรามีสิ่งดีๆในวันนี้ค่ะ ^ ^



ผศ. พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล 
  
Credit ภาพ :  http://www.ivillage.com/questions-will-turn-any-failure-awesome-life-lesson/4-a-544905


...30 บาท ของคนเราไม่เท่ากัน... (การเห็นคุณค่าของชีวิต ที่มีเงินเท่าไหร่ ก็ซิ้อไม่ได้)

ได้มีโอกาสคุยกับคนคนหนึ่ง 
ที่เขามีชีวิตที่ยากลำบาก
เขาป่วยเป็นมะเร็ง ในวัย เพิ่งจะ 30 ปี
จากที่เคยมีการงานดีๆ จากที่เคยแข็งแรง
เป็นนักกีฬาฟุตบอล
7 ปี มานี้ที่ป่วยเป็นมะเร็ง
เขาต้องออกจากงาน เพราะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
เขาไม่สามารถหารายได้ใดๆได้
ซ้ำร้ายยังต้องรักษาตัวด้วยโรคนี้
ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากมาย
ภรรยากลายเป็นคนหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว

ตอนนี้เขาออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว
และ รู้สึกผิดที่เป็นภาระครอบครัว
เขาจึงต้องการหารายได้จุนเจือครอบครัวบ้าง
(ด้วยสภาพร่างกาย ทำให้เขาทำงานได้ไม่มากนัก เพราะ
งานหลายอย่างส่งผลให้โรคของเขาแย่ลง)


มีคนเห็นช่องทางนี้ ที่เขาต้องการรายได้ช่วยเหลือครอบครัว และ มีข้อจำกัดในการทำงาน
จึงเสนอให้เขาขนยาเสพติด
แต่เขาปฏิเสธถึงแม้เขาอดอยาก และ ยากจน แต่เขาจะไม่ทำสิ่งผิด

สิ่งที่เขาทำตอนนี้ คือ รับจ้่างทั่วไป เท่าที่สุขภาพเขาทำได้ และ ไม่ผิดกฏหมาย 

คนแถวบ้านอยากช่วยเขา จึงใช้เขาช่วยซื้อของและให้ค่าจ้างตอบแทนเป็นเงินเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเขาก็ยินดีจะทำ 
เช่น คนแถวบ้านอยากได้ ดีวีดีหนัง ที่คลองถม เขาก็รับจ้่างไปให้
เพื่อแลกกับเงินค่าจ้าง
เมื่อหักลบ ค่ารถเมล์ที่ไปกลับ 2 ต่อ  เหลือค่าจ้างเพียง 30  บาทเขาก็ยินดีทำ
เพราะ สำหรับเขา เงิน 30 บาทมีค่ามากมายยิ่งนัก

สำหรับเรา และ อีกหลายคนบนโลกใบนี้
เงิน 30 บาทอาจไม่มีค่ามากเท่าใดนัก
แต่สำหรับ คนๆนึง เพียงขอให้ได้เงินเล็กๆน้อยๆ เช่น 30 บาท ก้บอาชีพที่สุจริต
ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
เขาก็พร้อมสู้ ตามสภาพร่างกายที่เขาพอจะทำได้
 

ระหว่างที่เขาเล่า
แม้ร่างกาย จะโรคมะเร็ง จะทำให้เขาดูอ่อนระโหยโรยแรง
แต่ สีหน้า และ แววตาของเขา ยังสู้เสมอ และ มีรอยยิ้ม อย่างเป็นมิตรให้กับพวกเราที่พูดคุยกับเขา
ให้กับทุกคนบนโลกใบนี้

และ สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเขาต่อไป
ตาทั้งสองข้าง ที่เขามองเห็นในวันนี้
กำลังจะมืดบอดลง
ด้วยโรคมะเร็งที่ส่งผลกับลูกนัยน์ตาของเขาทั้งสองข้าง

แต่รอยยิ้ม และ แววตาสู้ชีวิต ยังฉายออกมาเต็มสองตา
ก่อนจบการสนทนา เขาบอกเราว่า เขากำลังไปเรียนนวด 

สอนโดย พระ คอร์สละ 105 บาท
เผื่อว่าวันหนึ่ง เขาตาบอด เขาจะได้มีอาชีพ ไว้พอทำมาหากินได้


....ชีวิตที่ลำบากจริงๆ แล้ว ยังสู้
....สู้ด้วยรอยยิ้ม
....ช่างน่านับถือ


ในเวลาที่เราท้อแท้ หรือ รู้สึกหมดกำลังใจ
อย่าลืมนึกถึง คนเหล่านี้
ที่ สำหรับเขาแล้ว เงิน 30 บาทมีค่ามากมาย
ที่ โอกาสในชีวิตที่พวกเรามี เขาแทบไม่เคยมีเลย
แต่เขายังสู้
ยังมีหวัง
ยังมีรอยยิ้ม
แม้ วันที่ดวงตากำลังมืดบอด เขายังมีแสงสว่างที่กลางใจของเขา
แล้วเราล่ะ

 ...30 บาท ของคนเราไม่เท่ากัน
...แสงสว่างที่กลางใจ ของคนเราก็ไม่เท่ากัน....

บทความนี้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังท้อแท้นะคะ
มองหาศักยภาพในตัวเราเอง และ ลุกขึ้นสู้นะคะ
คนที่เขามีโอกาสน้อยกว่าเรา
เขายังสู้...

เราซึ่งอาจมีโอกาสมากกว่าเขา 

อย่าลืมสิ่งดีๆนั้นของตัวเอง
และ ลุกขึ้นสู้นะคะ
:))



พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล










ภาพจาก : http://www.jijaa.com/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95-%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7/

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ทุกข์ใหญ่ ทุกข์เล็ก (ทุกข์จะใหญ่ จะเล็ก ขึ้นกับใจเรา)


ภาพประกอบจาก : http://konkhangwat.blogspot.com/2013/09/blog-post_20.html

ทุกคนล้วนไม่อยากมี ทุกข์

แต่เพราะ โลก......ไม่ได้เกิดมาเพื่อเรา

โลกจึง..... ไม่ได้ดั่งใจเราทุกประการ

เราจึงทุกข์


ทุกข์จะเล็ก จะใหญ่ ขึ้นกับอะไร

ส่วนหนึ่งขึ้นกับปัจจัยภายนอก

ระดับเหตุการณ์ความร้ายแรง เหตุการณ์ยิ่งร้ายแรงมาก

โอกาสที่เราจะเกิดทุกข์ใหญ่ยิ่งมาก

แต่ไม่ใช่ทั้งหมด......

หลายคนคงเคยเห็นนะคะ ว่า มีผู้คนมากมาย ที่เขาประสบเหตุเภทภัยร้ายแรงในชีวิต

แต่หลายครั้ง เรากลับพบว่าเขาเหล่านั้น ยังยิ้มได้ แม้หัวใจยังมีความเจ็บปวดอยู่ มีความเศร้าอยู่

แต่ก็พร้อมจะสู้ 
พร้อมจะยืนหยัด ที่จะใช้ชีวิตต่อไป อย่างเข้มแข็ง อย่างสง่างาม


ขณะที่บางคน เจอเรื่องราวเล็กน้อยที่ทำให้ทุกข์

แต่ใจเขากลับทุกข์มาก ทุกข์กว่าคนที่เจอทุกข์ใหญ่เสียอีก

อะไรเล่า ที่ทำให้ทุกข์ใหญ่ หรือ ทุกข์เล็ก

ปัจจัยภายนอก.....อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด

ปัจจัยภายใน .......อาจมีผลอยู่ไม่น้อย

 ดั่งคำโบราณบอกว่า สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจ

เราลองมาดูกันนะคะ ว่า สุข ทุกข์ อยู่ที่ใจคืออะไร

ก่อนอื่นเรามารู้จักว่า ใจทำงานอย่างไรบ้าง

และ ทำลักษณะไหนทำให้ ใจเป็นทุกข์

ทำลักษณะไหนทำให้ "ใจเป็นสุข"


1. ตีความ หรือ แปลความ (หรือ ภาษาสมัยนี้ เรียกว่า มโน ค่ะ)

คนแต่ละคน จะตีความ แปลความ เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ ไม่เหมือนกัน

การตีความไปต่างแบบ ย่อมมีผลกับจิตใจต่างกัน

คนที่มักตีความ หรือ มโน เรื่องราวต่างๆ ไปทางด้านลบ ใจก็มีโอกาสเป็นทุกข์ได้มาก

เช่น เพื่อนวันนี้ไม่ทักเรา

ถ้าเราถนัดตีความด้านลบ อาจแปลว่า เพื่อนไม่ชอบหน้าเรา เกลียดเรา บางคนคิดเลยเถิดไปใหญ่โต ว่าเราเป็นคนไร้ค่า เป็นคนน่ารังเกียจ....

เท่านั้นแหละ ความทุกข์ ก็มาเยี่ยมมาเยือน ที่เรือนใจ ทันที

สิ่งที่ช่วยได้คือ

การกลับมา รู้ทันการตีความ / มโน (ทั้งด้านบวก ด้านลบ) นะคะ

ก่อนที่จะถูก มโน หลอกเราค่ะ

การมโนไปด้านบวกมากไป อาจจะทำให้สุขชั่วขณะ

แต่สุดท้าย ก็อาจทำให้เจ็บ....เพราะผิดหวัง ได้เช่นกันนะคะ

การรู้ทันมโน และ มองตามความเป็นจริงดีที่สุดค่ะ


 2. คาดหวัง
ความคาดหวัง....ยิ่งสูง ยิ่ง......ทำให้ทุกข์มาก

เราคาดหวังกับอะไร เราก็จะทุกข์จากสิ่งนั้น

เราคาดหวังเพื่อนมาก เราก็ทุกข์จากเพื่อนมาก

เราคาดหวังพ่อแม่มาก เราก็ทุกข์จากพ่อแม่มาก

เราคาดหวังแฟนมาก เราก็ทุกข์จากแฟนมาก

เราคาดหวังตัวเองมาก เราก็ทุกข์จากตัวเองมาก

ความคาดหวังอยู่ที่ไหน ความทุกข์ก็รออยู่ที่นั่น ค่ะ

ความคาดหวัง หลายครั้งก็ก่อให้เกิดสิ่งดีๆนะคะ เพียงแต่คนที่ต้องแบก ความคาดหวังไว้มากๆจะไม่ไหวอ่ะค่ะ หนักเกินอ่ะค่ะ

ให้ดีคือ ควรมีแต่พอดีๆนะคะ

สิ่งที่ช่วยได้คือ

ถ้าความคาดหวังนั้น ทำให้ยิ่งทุกข์ยิ่งหนัก เราต้องลองกลับมาทบทวนความคาดหวัง นั้นใหม่นะคะ ว่า

คาดหวังมากไปหรือเปล่า? เกินจริงไปหรือเปล่า ?

แล้วปรับให้พอดีๆ ตามความเป็นจริงมากขึ้นค่ะ

3. อัตตาตัวตน

ตัวตนยิ่งสูง ความทุกข์ยิ่งมาก

ยึดทุกอย่างเป็น ฉัน เป็น ของฉันไปหมด

เช่น ยึดตัวเอง คิดถึงแต่ตัวเอง

ยึดคน คนนี้ คนนั้นเป็นของฉัน

ยึดข้าวของ หวงข้าวหวงของ เป็นของฉัน....

ยิ่งถือกรรมสิทธิ์ ยึดครองมากเท่าไหร่ ความทุกข์ก็จะยิ่งทวีคูณตามการยึดครองนะคะ

 ในความเป็นจริงเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของโลกใบนี้

โลกใบนี้ไม่ได้หมุนรอบตัวเรา

โลกใบนี้ หมุนของมันเอง

ไม่มีเรา โลกใบนี้ก็ยังหมุนต่อไปได้

การยึดตัวตนมาก เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เป็นศูนย์กลางมาก เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดทุกข์ เปล่าๆค่ะ

สิ่งที่ช่วยได้คือ

ฝึกการปล่อยวาง ตัวเรา ของเราลงบ้าง

เราอาจพบสิ่งที่มีค่ากว่า คือ ความสุขที่ทวีคูณขึ้นค่ะ

3 ข้อที่ผ่านมา ใจยิ่งทำงานแบบนั้นมาก ......ยิ่งทุกข์มาก

แต่ในข้อที่ 4 และ 5 ที่จะกล่าวต่อไป ใจยิ่งทำงานแบบนี้มาก ....ความทุกข์กลับลดลงค่ะ

เราลองมาดูกันนะคะ ว่า ใจทำงานอย่างไร ทุกข์ใหญ่จึงกลายเป็น ทุกข์เล็กได้ค่ะ

4. ยอมรับ

ยอมรับ....ตามความเป็นจริง

การสามารถยอมรับสิ่งต่างๆตามความเป็นจริงได้

จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นมากค่ะ และ แม้หลายครั้งจะเจอทุกข์ใหญ่แค่ไหนก็ตาม

แต่เมื่อยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ความทุกข์ก็ลดลงไปมากทีเดียวค่ะ

 ยอมรับว่า โลกนี้...ไม่ได้ดั่งใจเรา จาก ทุกช์ใหญ่ก็กลายเป็น ทุกข์เล็กไปได้ค่ะ

ยิ่งเราสามารถยอมรับ สิ่งต่างๆ ความผิดหวัง ในชีวิตได้มากขึ้นเท่าไร

ใจเราก็ยิ่งทุกข์น้อยลงเรื่อยๆเท่านั้นค่ะ


5 . เรียนรู้จากชีวิต

วิกฤติ คือ โอกาส นะคะ

ทุก ความทุกข์ ความเจ็บปวด ให้บทเรียนชีวิตที่มีค่าเสมอ

ลองมองคุณค่า......ที่เราได้จากความทุกข์

ความทุกข์ให้อะไรมากกว่าที่เราเห็นในตอนแรก

ลองมองมันใหม่ แล้วเราจะพบว่า ความทุกข์สอนอะไร เรามากกว่าความสุข

ทำให้เราเติบโตขึ้น เข้มแข็งขึ้น ใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล และสวยงามมากขึ้น

จนหลายครั้ง เมื่อมองย้อนกลับไป ..... เราอาจต้องขอบคุณความทุกข์นั้น ที่ทำให้เรามีสิ่งดีๆในวันนี้ ค่ะ ^ ^

สุข ทุกข์ ส่วนหนึ่ง อยู่ที่ใจนะคะ

เราแก้ผลกระทบภายนอกไม่ได้

แต่เราสามารถแก้ผลกระทบภายในใจเราได้ค่ะ

ดังนั้น ทุกข์จะใหญ่ จะเล็ก.......ขึ้นอยู่กับการรับมือของใจเราเองนะคะ :)




บทความโดย แพทย์หญิง ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล 
ภาควิชา จิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล