วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563

"วิเคราะห์จิตใจเบธ นางเอกซีรี่ส์ เรื่อง The Queen's Gambit"

 





-------------------------------------------------

Spoiler alert !!! (เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญ)

"ความเข้มแข็งที่แท้จริง ไม่ใช่การหนีความรู้สึกเจ็บปวด"

ข้อคิดสำคัญจากซีรี่ส์ เรื่อง The Queen's Gambit

"การเผชิญ" กับ ความเจ็บจี๊ด

คือ การปลดปล่อยตัวเองจากความเจ็บจี๊ดนั้นที่แท้จริง

เบธ นางเอกของเรื่อง

เป็นนักหมากรุกที่เก่งกาจ พอๆ กับ การเป็นสาวนักดื่ม และ ติดยากล่อมประสาทอย่างเมามันส์

#การใช้ยากล่อมประสาทและการดื่มแอลกอฮอล์ของเธอมีที่มา

มองเผินๆ การใช้ยา และ สุรา

เป็นเพื่อการเสพสุขผ่านการมึนเมา (narcotization)

แต่จริงๆ มีความหมายมากกว่านั้น

ส่วนหนึ่ง เหมือนช่วยเสริมจินตนาการในการเล่นหมากรุก

แต่จริงๆ มีอะไรมากกว่านั้น

ภายใต้การใช้ยากล่อมประสาท และ เสพสุรา

มีความหมายทางจิตใจซ่อนอยู่

การใช้ยากล่อมประสาท และ เสพสุรา

ช่วยให้เธอหลบหนีความเจ็บปวดทางจิตใจ จากแผลใจในวัยเด็ก

ที่มารดาเกิดอุบัติเหตุ และ เธอกลับรอดอย่างปาฏิหารย์

ที่อุบัติเหตุครั้งนั้น จริงๆ มารดาตั้งใจฆ่าตัวตาย และ ตั้งใจให้เธอไปพร้อมกัน

ที่เธอรับรู้ชีวิตคู่ที่แสนเจ็บปวดของมารดา และ บิดา

ที่เธอรับรู้ความเศร้าโศกจากชะตากรรมที่แม่ของเธอต้องเผชิญ

ที่แม่บ่นก่อนฆ่าตัวตาย ด้วยความกังวลในการเลี้ยงดูเธอต่อไปเพียงลำพัง

ที่เธอขาดแม่ที่เป็นทุกอย่างของเธอในวัยเด็ก จนกลายเป็นเด็กกำพร้าที่อ้างว้าง

ความทรงจำเหล่านี้ เป็นภาพหลอนในใจเธอ

ที่ส่งผลกระทบกับใจเธออย่างยิ่งยวด และ ไม่หยุดยั้ง

เธอพยายามไม่ไปใส่ใจ (denial & repression)

แต่มันก็มักโผล่เข้ามาในความคิดคำนึง

รวมถึงการโผล่เข้ามาในความฝันอยู่เนืองๆ

และยิ่งในยามที่เธอพบความผิดหวัง พ่ายแพ้จากการแข่งขัน

ภาพแผลใจในอดีตเหล่านั้นก็จะทวีพลังขึ้นมาถาโถมในใจเธออย่างรุนแรง

การใช้ยา และ การเมาสุรา

ช่วยให้เธอหลบหนีความรู้สึกผิดหวังเจ็บปวดได้

(denial & avoidance)

#ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เธอพบความสำเร็จ

ในการแข่งขันครั้งสุดท้าย นัดสำคัญที่สุดในชีวิตเธอ

ที่เธอสามารถคว้าชัย กับ แชมป์โลก

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยให้เธอพบความสำเร็จในนัดสำคัญนี้

ไม่ใช่การก้าวข้ามคู่แข่ง

แต่คือการก้าวผ่านความเจ็บปวดในตัวเองได้

ปัจจัยที่เธอแพ้ ก่อนหน้านี้

ไม่ใช่ความเก่งกาจของคู่แข่ง

แต่จริงๆ คือ การแพ้ตัวเอง

ในการแข่งครั้งนี้

เธอหันกลับมา

เผชิญกับแผลใจวัยเด็ก

เผชิญกับความเจ็บปวดที่แสนจะบอบช้ำในใจ

1) ครั้งนี้

เธอไม่หนีเรื่องราวในใจ (denial &  avoidance) แบบครั้งก่อนๆ

เช่น การไปใช้ยา หรือ สุรา (avoidance) เสพให้เคลิ้มๆลอยๆ เมาๆ นอนๆ ลืมๆ ไป

หรือ การทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น (denial)

2) ครั้งนี้

เธอไม่ใช้การตัด(การรับรู้)อารมณ์ และไปใช้การฝักใฝ่เกมหมากรุก เพื่อหนีอารมณ์ (isolation of affect)

(ดูเผินๆ วิธีนี้ มีจุดดี

แต่ถ้าใช้วิธีนี้มากไป จะสร้างปัญหาในระยะยาว

เพราะ หลายเรื่องเราไม่สามารถตัดอารมณ์ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องที่มีความหมายกับหัวใจมากๆ

เมื่ออารมณ์จู่โจมถาโถมเข้ามามากๆและรุนแรง

ใจที่มีใช้วิธีนี้บ่อยๆ

จะไปไม่เป็น เสียทรง ดูแลตัวเองไม่ได้

เพราะไม่มีความสามารถในการอยู่กับอารมณ์ได้ดีนัก เนื่องจากตัดการรับรู้อารมณ์ไปบ่อยๆ

จนใจไม่มีทักษะการฝึุกอยู่กับอารมณ์ที่อ่อนไหว)

แต่ครั้งนี้

เธอกลับไปเผชิญกับมัน

ทั้งความรู้สึกเจ็บปวด ความรู้สึกอ้างว้าง และ บาดแผลในใจ

ด้วยการกลับไปยังสถานที่ต่างๆ ในวัยเด็ก

ทั้งบ้านที่อาศัยอยู่กับแม่

ทั้งบ้านพ่อที่เกิดปัญหาก่อนแม่จะฆ่าตัวตาย

ทั้งถนนที่เกิดเหตุสะเทือนใจ

ทั้งโรงเรียนสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า

ทุกสถานที่ที่มีกลิ่นอาย และ เรื่องราว

ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ มากมาย

ทั้งความสุข ความทุกข์ การสูญเสีย ความอ้างว้างเดียวดาย ความเจ็บปวด ความเศร้า ความรู้สึกผิด

และ บาดแผลทางใจที่เหวอะหวะ

และ ยิ่งกว่านั้น

หลังจากกลับจากสถานที่เหล่านั้น

อารมณ์ความรู้สึกก็ยังท่วมท้นล้นปรี่

แต่ครั้งนี้

เธอไม่หนีอารมณ์เหมือนครั้งก่อน

เธอไม่หนีไปเสพยากล่อมประสาท ไม่ใช้สุราเพื่อเสพความเมา เหมือนเคย

#ครั้งนี้เธอรับมือกับอารมณ์ทุกข์ในใจต่างไปจากเดิม

ครั้งนี้

1) เธอได้"เปิดใจรับรู้" ทุกอารมณ์

ทุกความคิดคำนึง ทุกความรู้สึก

ทั้งความเจ็บปวด ความรัก ความคิดถึง ที่เกิดขึ้น

ครั้งนี้เธอปล่อยให้ตนเองร้องไห้โฮออกมาอย่างหนัก

อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

(เดิมเกือบตลอดเรื่อง เราแทบจะไม่เคยเห็นตัวละครนี้ร้องไห้เลย

ทุกเรื่องที่เธอเจอ ล้วนหนักหนามาก

แต่สิ่งที่เราเห็น คือ ความหน้านิ่ง เย็นชา ไร้อารมณ์)

2) เธอได้ "อยู่กับอารมณ์" ต่างๆ เหล่านั้น

อย่างเป็นธรรมชาติ อย่างซื่อตรงกับความรู้สึกที่แท้จริง

และ อย่างมั่นคงที่จะรับรู้มันอย่างที่เป็นโดยไม่หนีไปไหน

3) เธอได้พบเพื่อน

ในโมเมนต์ที่แสนจะอ่อนไหว เจ็บปวดนั้น เธอมี โจลีน

เพื่อนวัยเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า คอยอยู่เคียงข้าง

และ เป็นตัวช่วยสำคัญ

ให้เธอกลับมาเผชิญกับความทรงจำ (ในวัยเด็ก) นั้น

ได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

และ ในช่วงเวลาเดียวกันนััน

ครั้งนี้

เธอก็ได้พบ "เพื่อนที่แสนดีที่สุด" เกิดขึ้นในชีวิตเธอ

เพื่อนที่รับรู้สุขทุกข์ในชีวิตเธอ

เพื่อนที่เคียงข้างเธอ

เพื่อนที่เห็นความฟูมฟายของเธอ

ด้วยใจที่ยอมรับ และ อ่อนโยน

เพื่อนที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอ

ทั้งยามสุข ยามทุกข์  ยามสมหวัง ยามผิดหวัง ยามพบความสำเร็จ หรือ ยามพ่ายแพ้

ไม่เคยทิ้งเธอไปไหน

เพื่อนที่แสนดีที่สุด คนนั้น คือ ตัวเธอเอง

เพื่อนที่ไม่ปฏิเสธการรับรู้อารมณ์ของเธอแบบก่อน

เพื่อนที่เปิดรับ ยอมรับ ทุกความฟูมฟายที่เกิดขึ้นในใจ

4) พบมิตรภาพ ความรัก ที่เธอเคยปิดใจ

ครั้งนี้ เธอกลับได้พบมิตรภาพที่ดีที่มีให้เธอตลอดมา

เมื่อใจเธอเปิด

ทั้งจากโจลีนเพื่อนสนิทในวัยเด็กของเธอ คุณไชเบล ภารโรงที่เป็นครูหมากรุกคนแรก  คุณแม่บูญธรรม และ เพื่อนๆที่เล่นหมากรุกมาด้วยกัน

เดิมใจเธอไม่เคยเปิดรับมิตรภาพเหล่านี้ได้อย่างเต็มๆ

เพราะ ใจถูกปิดกั้นไว้ โดยมีความรู้สึกเย็นชาเคลือบไว้

เหมือนรับรู้ได้บ้าง แต่ไม่เต็มที่

เพราะ ใจกลัวจะเจ็บปวดอีก เมื่อต้องสูญเสีย

 ใจไม่อยากอ่อนไหว ด้วยความรักใครอีก

แต่เมื่อเปิดใจ และ ใจเปิด

มิตรภาพดีๆ ความรักที่งดงามเหล่านี้ ได้มาเป็นพลังให้เธอผ่านช่วงที่ยากลำบากไปได้อย่างสวยงาม

5) สมองที่แจ่มใสกว่าเดิม

ทุกทีเธอมักหลงเข้าใจว่าการใช้ยากล่อมประสาท

ช่วยให้เธอจินตนาการเกมหมากรุกได้มาก

ทำให้เล่นได้ดี

แต่ครั้งนี้เธอกลับพบว่า สมองที่แจ่มใส ปราศจากยากล่อมประสาทและแอลกอฮอล์ต่างหากที่เฉียบขาดกว่ามาก

ความแจ่มใสปราดเปรื่องของสมองที่ปราศจากความมึนเมา ทำให้เธอแก้เกมที่กำลังคับขันได้อย่างทรงพลังอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

#ช่วงเวลาแห่งความสว่าง

การเผชิญความรู้สึกอ่อนไหว

เป็นช่วงเวลาที่เจ็บจี๊ดที่สุด

แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ก้าวผ่านแผลใจไปได้อย่างดีที่สุด

และ นั่นคือการเป็นอิสระที่แท้จริง

จากพันธนาการที่ชื่อว่าแผลใจในอดีต

การพยายามหนี กลับ หนีไม่พ้น

การเผชิญกับมันอย่างซื่อๆตรงๆ

กลับเป็นการพ้นจากอิทธิพลของมันอย่างแท้จริง

ความเข้มแข็ง ความมั่นคงจากภายในที่แท้จริง

จึงเกิดขึ้น

"เจ็บจี๊ดหายได้ เมื่อใจยอมรับว่า(โคตร)เจ็บเลยอ่ะ"

----------------------------------------

#บทส่งท้าย

ความรู้สึกทุกข์ ก็ทุกข์มากอยู่แล้ว

การไม่ยอมรับความรู้สึกทุกข์ ยิ่งทำให้ทุกข์มากขึ้นไปอีก

และ การพยายามดิ้นรนหนีความรู้สึกทุกข์

กลับยิ่งส่งผลเสียตามมาอีกมากมาย

ทั้งกับตัวเราเอง และ ผู้อื่น

ใจที่ยอมรับความรู้สึกทุกข์ กลับพบแสงสว่าง 🙂

-----------------------------------

บทความโดย พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

------------------------------------

เครดิตภาพ : ภาพจากซีรี่ส์ เรื่อง The Queen's gambit