วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

"กฏมีไว้แหก แยกมีไว้ฝ่า" พฤติกรรมนี้มีที่มา

หมอได้มีโอกาสอ่านบทความหนึ่ง
เขียนโดย รศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์
จิตแพทย์อาวุโส ที่มีประสบการณ์ในการดูแลจิตใจคนไทยมานานกว่า 30 ปีค่ะ
บทความนี้ท่านเขียนถึงเกี่ยวกับวิธีเลี้ยงเด็กๆในสังคมไทย
ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดผู้ใหญ่ที่มีลักษณะ "กฎมีไว้แหก แยกมีไว้ฝ่า"
ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กแบบไหน อย่างไร
ลองอ่านดูนะคะ เผื่อได้แนวคิดการดูแลเด็กๆของเรากันค่ะ


"กฏมีไว้แหก แยกมีไว้ฝ่า"

เช้ามืดวันหนึ่ง ผมขับรถออกจากบ้านด้วยความรู้สึกสบายๆ
แต่ก็ต้องเบรครถอย่างกระทันหัน เพราะตกใจที่รถมอเตอร์ไซค์ข้างหน้าหยุดเอาดื้อ ๆ ที่สามแยก
พอหายตกใจผมก็พบเหตุที่มานั่นคือ คนขับมอร์เตอรฺไซค์ต้องหยุดด่วนเพราะมีข้อความเข้ามาในโทรศัพท์
เพราะผมเห็นชัดเจนว่าคนขับควักโทรศัพท์ออกมาแล้วกด ๆ อยู่ซัก 2-3 นาที จึงขับต่อไป
นี่คือเหตุการณ์ธรรมดาๆ ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครที่มีอุบัติเหตุจราจรและทำให้คนตายสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
รองจากประเทศนามิเบียไปนิดเดียว คือ อันดับ 1 คนตาย 45: 100,000 ประชากร
และของไทย 44: 100,000 ประชากร
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2013
ผมเชื่อว่าคนไทยที่ใช้รถใช้ถนนทุกคนคงรู้ว่าเรามีความเสี่ยงทางจราจรสูงมาก
เพราะคนขับรถก็ไม่ใส่ใจคนเดินถนน
คนเดินถนนก็ข้ามถนนสะเปะสะปะตามใจ
เหมือนสำนวนไทยที่ว่า “ทำได้ตามใจคือไทยแท้”


ความคิดที่เกิดกับตัวผมเมื่อเห็นจราจรไทย ช่วยทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่
จิตแพทย์จากอเมริกาที่มาประชุมวิชาการในไทยและไปกินข้าวที่บ้านคนไทยซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ อุทานว่า
 

“ผมเข้าใจแล้วว่าทำไมจราจรของไทยถึงวุ่นวายแบบนี้”
เพราะเห็นคนเลี้ยงเด็กอายุ 3-4 ขวบ เดินตามป้อนข้าวเด็กไปรอบๆ บ้าน แทนที่จะฝึกเด็กให้นั่งกินข้าวให้เป็นระเบียบ

ถ้าถามว่า ทำไมเราไม่ฝึกระเบียบวินัยให้เด็กตั้งแต่เล็ก
คำตอบหนึ่งก็คือ เด็กเล็กก็เป็นอย่างนี้ เดี๋ยวโตก็จะดีขึ้นเอง
ถ้าไปขัดใจเด็กจะไม่มีความสุข เด็กจะโกรธ


เด็กที่ไม่มีประสบการณ์ในการควบคุมความต้องการของตนเอง ต่อไปย่อมลำบากเวลาต้องควบคุมตนเอง
เพราะความรู้สึกมั่นคงในตัวจะไม่ชัดเจน ไม่แน่ใจ ลังเลสงสัยความสามารถของตนเอง

ต้องหาตัวช่วยเสริมความมั่นใจจากคนอื่น จากคนเลี้ยง และพ่อแม่
มีผลทำให้การรู้จักตนเอง การเกิดอัตลักษณ์สับสน
นำไปสู่พัฒนาการที่ขาดวุฒิภาวะ เป็นคนไม่มั่นคง หวั่นไหวง่าย


การสร้างวินัยในตนเองเป็นรากฐานของการพัฒนาบุคคลให้มีความเชื่อมั่นในตนเอง
เห็นถึงคุณค่าของตนเอง
มั่นใจว่าตนสามารถอดทนรอคอยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
รู้จักการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
และสามารถชื่นชมตนเองได้เมื่อทำอะไรสำเร็จ


ความต้องการในคนเราลึกๆ มาจากตัวตนที่ดีงาม
ที่เป็นพลังชีวิตของมนุษย์ และผลักดันให้เกิดความปรารถนา
ความต้องการภายในที่จะนำไปสู่การกระทำเพื่อเติมเต็มความปรารถนา และแน่นอนว่าความต้องการของเราจะต้องประสบอุปสรรค ไม่ได้ทุกอย่างที่ต้องการ
หรือไม่ได้ทุกอย่างทันทีที่ต้องการ
และความผิดหวังที่เกิดขึ้นนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ที่พัฒนาตัวเราให้เกิดความคิดที่เหมาะสมกับบริบทสิ่งแวดล้อม
และทำให้เกิดการกระทำที่สังคมยอมรับ
การกระทำที่บุคคลจะเรียนรู้และชื่นชมตนเองที่สามารถมีวินัยในตัวได้

ในสังคมที่ยึดถือภาพลักษณ์ภายนอก ยึดถือท่าทาง รสนิยมการแต่งตัว ความรู้จากใบปริญญาย่อมส่งผลให้ยึดติดกับภาพเปลือกของมนุษย์
โดยไม่สนใจที่จะทำความเข้าใจถึงความเป็นตัวตน
เป็นคนดี มีระเบียบวินัย เอาใจเขามาใส่ใจเรา


มีผู้กล่าวว่า ประเทศที่เจริญ เป็นประชาธิปไตย
เพราะสังคมเคารพกฎหมาย นับถือกระดาษที่ระบุถึงเนื้อหาของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมทุกระดับก็จะให้ความสำคัญ และบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอหน้ากัน


แต่ในประเทศไทยเรามีกฎหมายที่มีเนื้อหาทันสมัยเป็นจำนวนมาก
แต่ขาดคนนับถือ คนไม่เคารพกฎหมายพยายามหาช่องเลี่ยงกฎหมาย
เราไม่เชื่อว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์หรือเสมอภาค สำหรับคนไทยทุกคน ผลที่ออกมาจึงเห็นความเสื่อมถอยของจริยธรรม
และมารยาทในสังคมทุกระดับตั้งแต่ระดับการจราจร การทำมาหาเงิน โดยวิธีมือใครยาวสาวได้สาวเอา

ถ้าสาวไม่ได้ก็หาตัวช่วย หาวิธีเลี่ยงกฎหมายและนำสู่การคอร์รับชั่นในระดับประเทศ
และยิ่งมีการใช้งบประมาณพัฒนาประเทศมากเท่าใด
การโกงกินย่อมมากขึ้นเท่านั้น จนทำให้ข้อมูลในทางลบของประเทศไทยเป็นที่รับรู้ทั่วโลก
เป็นการประจานประเทศเราโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้งบการศึกษาสูงมาก
แต่ผลที่ได้เกือบต่ำสุดในประเทศอาเซียน
ประเทศไร้ระเบียบ มีการโกง ปลอมปนสินค้า ธรรมชาติถูกทำลาย มีการบุกรุกป่า
กลไกการบังคับใช้กฎหมายเป็นง่อยไร้ประสิทธิภาพ ผู้บริหารมีการโกงกินอย่างเห็นได้ชัด

 

ดังนั้น ถ้าเราไม่เริ่มพัฒนาสังคมด้วยการพัฒนาวินัยให้เด็กไทยจากการพัฒนาครอบครัว การเลี้ยงดูแล้ว ปัญหาของการไร้ระเบียบและคอร์รับชั่นจะเกิดเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบ

บทความโดย รศ.นพ.ณรงค์ สุภัทรพันธุ์
อดีตประธานวิชาการราชวิทยาลัยจิตเวชศาสตร์
อดีตหัวหน้าภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล



เครดิตภาพ: http://www.theepochtimes.com/…/527574-married-chinese-woma…/

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2558

สุขได้ง่ายขึ้น ถ้าลดตัวตนลง



การลดตัวตน
เป็นเคล็ดลับความสุขที่สำคัญ
 

คนที่ตัวตนมาก มักจะทุกข์มาก
คนที่คิดตัวเองมาก มักจะทุกข์มาก


ดังคำกล่าวว่า "ทุกข์ใหญ่ เพราะใจแคบ"

เพราะอะไร จึงเป็นเช่นนั้น
เพราะการที่มีอะไร แล้วนึกถึงแต่ตัวเอง
ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง
แม้เพียงนิดเดียว จะพาลเป็นเรื่องใหญ่ทันที
 

ใจจะอ่อนไหวง่าย จึงเป็นเหตุให้ทุกข์ได้มาก ได้ง่าย และ
ได้บ่อย
 

แต่คนที่ตัวตนน้อย จะทุกข์น้อยกว่า
คนที่คิดถึงคนอื่นมากกว่า 

ใจกว่้างกว่า จะมีความสุขได้ง่ายมากกว่า

วิธีการฝึกการลดตัวตน คือ
- การฝึกการให้ การแบ่งปัน อย่างไร้ตัวตน
คือ การให้แบบไม่คาดหวังใดๆตอบแทน แม้กระทั่งความรับและการยอมรับ หรือความรู้สึกดีๆจากคนที่ได้รับ
- การฝึกเอาใจเขาใส่ใจเรา
- การฝึกวางตนเสมอกับผู้อื่น ฝึกที่จะไม่คิดว่าตนเองนั้นเหนือคนอื่น

เมื่อลดตัวตนได้ คุณค่าทางจิตใจที่จะได้รับ คือ

จิตใจนุ่มนวล อ่อนโยนมากขึ้น
เป็นต้นทางที่ทำให้เข้าถึงความสุขได้ง่ายขึ้น จิตใจเบาสบายมากขึ้น

พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรุกล

เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/storybambooforest/photos/a.344494915631921.79050.223597177721696/783498355064906/?type=1&theater

เรื่องราวของ 'อั๊กลี่ (ugly)'

"เรื่องราวของ 'อั๊กลี่ (ugly)'
ที่ทำให้หัวใจ 'สวย' ขึ้น"
-----------------------------------------------------------------------------------

อั๊กลี่ เป็นแมวจรจัดที่อาศัยอยู่ในอพาร์ทเมนท์ที่ฉันอาศัยอยู่
ทุกคนในอพาร์ทเม้นท์รู้จัก 'อั๊กลี่' ดี

อั๊กลี่มี 3 สิ่งที่มันรัก
1. การต่อสู้
2. การกินอาหารจากขยะ
3. สิ่งที่เราเรียกว่า "ความรัก"

3 สิ่งนี้ที่อั๊กลี่รัก เมื่อต้องผสมผสานกับการใช้ชีวิตอย่างแมวจรจัดนอกบ้าน 
สิ่งเหล่านี้จึงอิทธิพลต่อชีวิตอั๊กลี่อย่างมาก

เริ่มจากที่ว่า

อั๊กลี่เป็นแมวตาเดียว
ซึ่งตาข้างที่บอดนั้นเรียกได้ว่าเป็น รูๆหนึ่งซะมากกว่า

อั๊กลี่สูญเสียใบหู
หูข้างเดียวกับดวงตาที่บอด

เท้าข้างซ้ายเคยหักอย่างรุนแรง
และได้รับการเยียวยาตามมีตามเกิด
จึงทำให้อั๊กลี่เดินเป๋อยู่ตลอดเวลา

อั๊กลี่น่าจะเป็นแมวลายแท็บบี้ สีเทาเข้ม
ยกเว้นบาดแผลซึ่ง ปกคลุมตรงส่วนหัว คอ และลามมาถึงไหล่

อั๊กลี่จึงเป็นแมวพิการ และ รูปร่างหน้าตาไม่น่าดูนัก

ทุกครั้งที่มีใครเห็นอั๊กลี่ จะแสดงปฏิกิริยาเดียวกัน
"แมวตัวนั้นน่าเกลียดสุดๆเลย"
และ พร้อมจะเรียกมันว่า อั๊กลี่ (ugly) (ซึ่งแปลว่า น่าเกลียด)

เด็กๆทุกคนถูกห้ามไม่ให้จับต้องมัน
พวกผู้ใหญ่เอาหินขว้างปาใส่มัน
ฉีดน้ำใส่เมื่อมันพยายามจะเข้าไป ในบ้าน
หรือแม้แต่งับประตูใส่อุ้งเท้ามัน เมื่อมันไม่ยอมออกจากบ้าน

อั๊กลี่มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างไรหรือ

ถ้าคุณฉีดน้ำใส่ มันจะยืนเปียกซ่ก อยู่อย่างนั้น
จนกระทั่งคุณยอมแพ้ และเลิกไปเอง

ถ้าคุณขว้างของใส่ มันจะม้วนตัวอยู่ระหว่างขาคุณ
ประหนึ่งว่ามันให้อภัยคุณ

เมื่อไหร่ก็ตาม ที่มันเจอเด็กๆ มันจะวิ่งเข้าหา
ร้องเหมียวๆและโหม่งหัวใส่มือเล็กๆ เหล่านั้น
พร้อมกับขอความรัก จากพวกเขา

ถ้าคุณอุ้มมันขึ้นมา มันจะเริ่มดูดเสื้อเชิร์ต ต่างหู
และ ทุกสิ่งที่มันหาเจอบนตัวคุณ

วันหนึ่งอั๊กลี่แบ่งปันความรักของมัน ให้กับสุนัขพันธุ์ฮัสกี้หลายตัวของเพื่อนบ้าน
แต่พวกสุนัขไม่ตอบสนองด้วยความปราณี

ดังนั้นอั๊กลี่จึงได้รับบาดเจ็บสาหัส
ฉันได้ยินเสียงร้องของอั๊กลี่ ดังไปถึงอพาร์ทเม้นท์และวิ่งไปช่วยมัน

แต่เมื่อไปถึง อั๊กลี่นอนนิ่งอยู่ที่พื้น
ดูเหมือนว่ามันใกล้ตายเต็มที

อั๊กลี่นอนบนพื้นเปียก
ขาหลังทั้งคู่และหลังส่วนล่างบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง
มีบาดแผลฉีกขาด ทางด้านหน้า

เมื่อฉันพยายาม ยกตัวมันขึ้นและจะพากลับบ้านนั้น
ฉันได้ยินเสียงหายใจขัดเป็นช่วงๆ
และรู้ว่ามันกำลังดิ้นรนต่อสู้กับความตาย

ฉันคิดว่าฉันคงทำให้มันเจ็บมาก
และแล้วฉันก็รู้สึกถึงสัมผัสอันคุ้นเคยบนหู
แม้ขณะที่มันเจ็บปวดแสนสาหัส และใกล้ตายเต็มที
มันยังพยายามดูดใบหูของฉัน
ฉันอุ้มมันเข้ามาใกล้
มันเอาหัวโหม่งอุ้งมือของฉัน
และหันหน้าข้างที่มีตาสีทองมายังฉัน

ฉันได้ยินเสียงคราง ในลำคอของมันอย่างชัดเจน
เจ้าแมวที่เต็มไปด้วยแผลเป็น
กำลังร้องขอความเห็นอกเห็นใจแม้เพียงน้อยนิด

นาทีนั้นเองฉันคิดว่า
"อั๊กลี่เป็นสัตว์ที่สวยและน่ารักที่สุด" เท่าที่ฉันเคยเห็นมา

ไม่มีแม้แต่ ครั้งเดียวที่มันพยายามจะข่วนหรือกัด
หรือพยายามจะหนีห่างออกจากฉัน
อั๊กลี่เพียงเงยหน้ามามองด้วยความเชื่อมั่นว่า
ฉันจะสามารถทุเลาความเจ็บปวดของมันได้

อั๊กลี่ตายในอ้อมกอด ก่อนที่ฉันจะทันได้เข้าไปในข้างในอาคาร
ฉันได้แต่นั่งและอุ้มมันไว้ ครุ่นคิดเพียงว่า

ทำไมแมวจรจัดพิการ เต็มไปด้วยแผลเป็น
สามารถ "เปลี่ยนมุมมองของฉัน ให้เห็นถึงความหมายของคำว่า จิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ ที่มีความรักแท้อันเต็มเปี่ยม"

อั๊กลี่สอนให้ฉันเข้าถึง "การให้ และ ความสงสาร"
ซึ่งมากเสียยิ่งกว่า
การเรียนรู้จากหนังสือ การฟังคำบรรยาย ต่างๆ หรือ ทอล์คโชว์นับพันๆชิ้น

และนี่เอง "ฉันรู้สึกขอบคุณมันอย่างมาก"

อั๊กลี่มีแผลเป็นอยู่ข้างนอกตัว
แต่ฉันนี่สิมีแผลเป็นอยู่ข้างใน

และถึงเวลาแล้วที่ฉันต้องดำเนินชีวิตต่อไป
และเรียนรู้ถึงการให้ ความรักอย่างบริสุทธิ์
และปราศจากข้อกังขากับทุกๆคน

หลายคนต้องการรวยขึ้น
ต้องการความสำเร็จมากขึ้น
และ อยากสวยขึ้น

......แต่สำหรับฉันแล้ว ฉันพยายามจะเป็น "อั๊กลี่".......
-----------------------------------------------------------------------------
หลายอย่างในโลกนี้ อาจ "น่าเกลียด" ในสายตาเรา

แต่เราลองเปิดใจ และ ลองมองมันใหม่

สิ่งเหล่านี้ อาจมีบางอย่างสวยงามแฝงอยู่
และการพบสิ่งนั้นกลับทำให้ "หัวใจ" ของเรา "สวยงาม" มากขึ้น

การที่ต้องอยู่กับความรู้สึกเกลียดชัง
ไม่รู้ว่าสิ่งนั้น น่าเกลียด หรือ ใจเราตอนนั้นที่น่าเกลียดกว่า

.....เมื่อหัวใจอ่อนโยนขึ้น คุณจะเห็นว่าโลกใบนี้สวยงามมากขึ้น.....

พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล


เรื่องราวที่งดงามนี้นำมาจาก
: Story of Ugly the cat.
http://sfglobe.com/?id=15952
:https://www.facebook.com/tang.backcat?fref=ts
:https://www.facebook.com/friendsnotfoodgovegan/photos/a.542909872504173.1073741829.491222097672951/662389083889584/?type=1&pnref=story
เครดิตภาพ :
http://sfglobe.com/?id=15952

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2558

ทำให้รู้สึกดีกับตัวเองได้อย่างไร

4 วิธีธรรมดาๆ ที่ทำให้รู้สึกดีๆ กับตัวเองได้ในทุกๆวัน


การมีความรู้สึกดีกับตัวเอง
ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องยิ่งใหญ่ 

หรือ ประสบความสำเร็จอะไรใหญ่โตมากมาย
หรือ ต้องมีคนมารัก มายอมรับเราเยอะแยะ

ขอเพียงในแต่ละวันเราทำสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เรารู้สึกดีๆกับตัวเอง
เราจะมีชีวิตแต่ละวัน ที่มีความสุขได้ค่ะ

และความสุขเล็กๆในแต่ละวัน
จะนำมาสู่ความสุขที่แท้จริงของชีวิตค่ะ

เพราะ ความสุขใหญ่ๆ เกิดขึ้นไม่บ่อย และ ยากลำบาก
โอกาสได้น้อย
โอกาสผิดหวังสูง

เพราะ ต้องรอคอยและลุ้นหลายๆปัจจัย
และนานๆมาที

แต่ความสุขเล็กๆ กลับเป็นของจริงกว่า
จับต้องได้มากกว่า
เกิดขึ้นได้บ่อยกว่า
และ ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอะไรมากมาย

และ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวันค่ะ

4วิธีง่ายๆ ที่ทำให้รู้สึกดีๆ กับตัวเอง ในแต่ละวัน

1.ทำงานให้เสร็จ
การทำงานให้เสร็จ ฟังเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในหลายคนก็เป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันค่ะ
และ การทำงานให้เสร็จให้ผลดีกับจิตใจอย่างมากมายค่ะ
ที่ไม่ใช่แค่เรื่องความสำเร็จ แต่มีผลทำให้สุขภาพจิตดีค่ะ

คุณค่าทางด้านจิตใจ :
ทำให้ใจเบาสบาย เกิดความรู้สึก โปร่งโล่ง 
ไม่ต้องคอยพะวง  หรือ วิตกกังวล ค้างคาใจค่ะ
และ ที่ได้มากคือ ความรู้สึกเป็นอิสระ และ ความรู้สึกภูมิใจในตัวเองค่ะ


2.เป็นตัวของตัวเอง
การเป็นตัวของตัวเอง
เป็นเคล็ดลับความสุขที่สำคัญมากค่ะ
เพราะ การใช้ชีวิตที่เป็นตัวเองจริงๆ
จะใช้ชีวิตได้ง่าย สบายๆ ไม่ต้องคอยประดิษฐ์ตัวเอง

คุณค่าทางด้านจิตใจ :
ทำให้เกิดการเห็นคุณค่าในตัวเอง และ เกิดการเคารพตัวเองค่ะ

3.ดูแลตัวเอง
การดูแลตัวเอง เป็นขั้นตอนสำคัญมากที่จะนำมาสู่ความสุขค่ะ
มีคนมากมายใส่ใจดูแลคนอื่น
และ มีคนมากมายรอคอยคนอื่นมาดูแล
และ คิดว่าเมื่อได้มาจะมีความสุข
จึงรอคอยมาก คาดหวังมาก
และ หลายครั้งก็ทุกข์ เพราะ ผิดหวัง

แต่การกลับมาดูแลตัวเอง โดยไม่ต้องรอคอยใครมาดูแลเรา
หรือ ให้เวลาดูแลตัวเองบ้าง หลังจากวิ่งคอยดูแลคนอื่นอยู่ตลอด

กลับเป็นสิ่งที่ดีกว่า
เพราะ ทำให้ได้เติมเต็ม สิ่งที่ใจตามหาด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องรอคอยจากใคร
และ เมื่อเราดูแลตัวเองได้ดี
การดูแลคนอื่นจะมีคุณภาพดีกว่าค่ะ

เพราะ กายและใจ มีความพร้อมมากกว่า ที่จะช่วยเหลือดูแลคนอื่นค่ะ
เพราะ ถ้าไม่ดูแลตัวเอง บางทีกายกับใจ ก็เหนือยเกินไป
ไม่อยู่ในสภาพทีดีพอจะดูแลใครได้เต็มที่นัก
การดูแลคนอื่นจะมีคุณภาพที่ไม่ดีค่ะ

คุณค่าทางด้านจิตใจ :
ทำให้มีโอกาสมอบความรัก และ ความใส่ใจใหักับตัวเองค่ะ
ช่วยร่างกายและจิตใจกลับมามีพลังค่ะ

4.ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
การใช้ชีวิตอย่างมีสติ เป็นกุญแจสำคัญของการมีความสุข
เพราะ ปัญหาในชีวิตเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งที่มาแบบคาดหมายไว้ หรือ เหนือความคาดหมายก็มาก
อุบัติเหตุในชีวิตเกิดขึ้นเมือไรก็ได้
ดังนั้น การหมั่นมีสติบ่อยๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหา และ ในการดูแลจิตใจได้อย่างดี
เพราะ การมีสติบ่อยๆ จะช่วยให้รับสถานการณ์กดดันต่างๆได้ดีขึ้น
แก้ปัญหาได้ดีขึ้น
อย่างที่เขากล่าวกันว่า สติมา ปัญญาเกิด
เมื่อเกิดสติ จะช่วยให้เห็นทางออกของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

วิธีการฝึกสติ คือ หมั่นกลับสังเกต รับรู้ โลกภายในใจ ของต้วเองบ่อย
ว่าในแต่ละขณะ เกิด 1.ความคิด 2. ความรู้สึก หรือ 3. เกิดการกระทำ อะไร ขึ้นมา
การหมั่นกลับมาสังเกต รับรู้ 3 สิ่งนี้ได้บ่อยๆ
จิตใจจะมีสติอัตโนมัติได้ง่ายขึ้น

คุณค่าทางจิตใจ:
เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น
ความสงบในใจจะเกิดง่ายขึ้น
การรู้ทัน อารมณ์ ความคิด ภายในตัวเราเอง จะไวมากขึ้น
การกระทำจะออกมาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น






:) 4 วิธีธรรมดาๆ ที่ทำให้แต่ละวัน เป็นวันแห่งความสุขได้ทุกวันค่ะ :)










บทความโดย แพทย์หญิง ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล
เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/Mamuangjungdotcom/photos_stream

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความสุขที่หายไป....

ถ้าชีวิตเริ่มไม่ค่อยมีความสุข
ลองกลับมาสำรวจการใช้ชีวิตของตัวเองนะคะ

ว่า เรากำลังใช้ชีวิต "เกินพอดี" ไปหรือเปล่า ?

ทำเยอะไป
(เหนื่อย โทรม เสียสุขภาพ)
หรือ ทำน้อยเกินไป
(ไม่มีผลงาน ไม่มีความสำเร็จ)

คิดเยอะไป
(กังวล)
หรือ คิดน้อยเกินไป
(ไม่รอบคอบ)

รู้สึกเยอะไป
(เศร้าง่าย อ่อนไหวง่าย)
หรือ รู้สึกน้อยเกินไป
(เย็นชา ไม่เข้าใจใคร)

รักมากเกินไป
(ตามืดบอด ลำเอียง)
หรือ รักน้อยเกินไป
(ไม่ใส่ใจ)

ใส่ใจมากเกินไป
(จุกจิก)
หรือ ใส่ใจน้อยเกินไป
(ปล่อยปละละเลย)

แคร์คนเยอะไป
(สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ขาดความมั่นใจ)
หรือ แคร์คนน้อยเกินไป
(ไร้น้ำใจ ไม่เคารพคนอื่น)

กังวลเยอะไป
(สับสน ปวดหัว)
หรือ กังวลน้อยเกินไป
(หละหลวม เลินเล่อ)

กลัวมากเกินไป
(ขี้ขลาด)
หรือ กลัวน้อยเกินไป
(ประมาท)

ระเบียบมากเกินไป
(ตึงเครียด)
หรือ ระเบียบน้อยเกินไป
(สะเปะสะปะ เละเทะ)

อยู่กับภาพลักษณ์มากไป
(ดูเสแสร้ง ไม่จริงใจ ข้างในรู้สึกกลวงๆ)
หรืออยู่กับภาพลักษณ์น้อยไป
(ไม่น่าเชื่อถือ คนไม่ยอมรับ)

คาดหวังเยอะไป
(เคร่งเครียด กดดัน)
หรือ คาดหวังน้อยเกินไป
(ขาดแรงจูงใจ ไม่มีความฝัน)

คิดถึงตัวเองเยอะไป
(ตัวตนมาก เห็นแก่ตัว ไร้น้ำใจ)
หรือ คิดถึงตัวเองน้อยเกินไป
(ไม่ดูแลตัวเอง เบียดเบียนตัวเอง ถูกเอาเปรียบง่าย)

ถ้าสำรวจแล้วมีอะไรที่ "เกินพอดี" อยู่
ลองปรับให้พอดีขึ้น

ที่เยอะเกินไป ลดลงนิดนึง
จะเบาสบายมากขึ้น
ชีวิตดีขึ้น
ความทุกข์ลดลง

ที่น้อยเกินไป ลองเพิ่มขึ้นอีกนิดนึง
มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น
ประสบความสำเร็จมากขึ้น
ภูมิใจในตัวเองมากขึ้น
ชีวิตดีขึ้น
ความสุขมากขึ้น

ความสุขที่หายไป จะกลับคืนมา เมื่อลด "ความเกินพอดี" ในชีวิตไปค่ะ :)

เครดิตภาพ : :https://www.facebook.com/kiwtum/photos/a.227372344047056.49025.227371694047121/648940158556937/?type=1&pnref=story

"เมื่อคิดมาก คิดฟุ้งซ่าน วิตกกังวลมาก ควรทำอย่างไร"



สิ่งที่ควรทำมี 3 อย่างดังนี้ค่ะ

1) อันดับแรก ต้องรู้ทัน"ความคิด" ก่อนค่ะ
เพราะ คนเรามักทุกข์เพราะความคิดของตัวเอง
ยิ่งคิดเยอะ คิดไกล ก็ยิ่งทุกข์ได้มาก

ดังนั้นการกลับมารู้ทัน "ความคิด" จึงสำคัญมากค่ะ
เพราะถ้ารู้ไม่ทัน เราจะหลงเข้าไปในความคิด
เชื่อสิ่งที่คิด จนเป็นตุเป็นตะ
จนเป็นทุกข์เพราะมัน
กลายเป็นทาสของความคิดไปค่ะ

แต่ถ้ารู้ทัน "ความคิด" เราจะรู้ว่า นี่คือความคิด
จะได้ไม่หลงไปเป็นทาสความคิด
ความทุกข์ก็จะลดลงค่ะ
เพราะ แยกออกได้ระหว่างโลกของความจริง
กับโลกที่(แสนทุกข์)จากความคิด ที่(เผลอ)ปรุงแต่งค่ะ

ถ้าหากเราเริ่มเห็นกระบวนการ ที่เป็นต้นทุกข์ คือ ความคิด
ฝึกรู้ทันมันบ่อยๆค่ะ
แล้วคุณจะได้กลับมาอยู่บนโลกแห่งความจริงมากขึ้น
ใจจะเบาขึ้นค่ะ
ความเป็นสมาธิจะเกิดขึ้นได้ ใจจะสงบขึ้น

เพราะ โลกที่มโนไปมากจะทุกข์เกินจริงค่ะ

2) ฝึกลงมือทำให้มากขึ้นๆ

ขั้นตอนนี้สำคัญมากเช่นกันค่ะ
เพราะ ความคิดมักทำให้ฟุ้ง
แต่ "การลงมือทำ" จะช่วย "ลดความฟุ้ง" ได้ค่ะ

เพราะการลงมือทำไปเลยจะช่วยให้เห็น
1. ศักยภาพของตัวเองมากขึ้น
2. เห็นโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น
ซึ่งโลกในความจริงอาจไม่ได้น่ากลัวกังวลเหมือนที่คิดด้วยค่ะ

ขั้นตอนนี้จะช่วยลดความกลัวกังวลจากความคิดวนๆไปได้อย่างมากค่ะ

3). ฝึกที่จะกลับมารับรู้ลมหายใจเป็นระยะ

เป็นการช่วยดึงให้ใจกลับมาสัมพันธ์กับร่างกาย เพิ่มความรู้เนื้อรู้ตัว
เพราะใจที่หลงไปอยู่ในความคิดมาก จะลืมเนื้อลืมตัว
ยิ่งลืมเนื้อลืมตัวมากเท่าไหร่
จิตใจก็ยิ่งอ่อนแอค่ะ

การกลับมารู้เนื้อรู้ตัว
จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับจิตใจได้มากค่ะ
เพราะ ช่วยให้ใจสงบขึ้น จิตใจมีกำลังมากขึัน
เพราะ ใจที่คิดกลัวกังวล ฟุ้งซ่าน ง่าย เป็นใจที่ไม่มีกำลังค่ะ

การกลับมาช่วยเพิ่มกำลังให้จิตใจแข็งแรงขึ้น จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
ที่จะช่วยลดความคิดกังวล ฟุ้งซ่านได้อย่างดีค่ะ

เมื่อทำ 3 อย่างที่กล่าวมานี้เรื่อยๆ
คุณภาพของจิตใจจะเปลี่ยนไปในทางที่ดี
จะสามารถช่วยลดความคิดกลัวกังวลฟุ้งซ่านได้อย่างดีค่ะ ^___^


บทความโดย พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/Mamuangjungdotcom/photos/pb.603313313030393.-2207520000.1425097769./920632347965153/?type=3&theater

หมายเหตุ : ฝากคลิปสั้นๆเกี่ยวกับการดูแลให้ใจพบความสงบได้ ในระหว่างวันที่วุ่นวายค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=F6eFFCi12v8

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความสุขที่แท้จริง



ทุกคนต้องการความสุข
หลายคนวิ่งไล่ไขว่คว้า หาความสุข
หลายคนเหนื่่อย(และทุกข์) เพราะ วิ่งไล่ไขว่คว้า เจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ความสุข"

ยิ่งไล่ ความสุขก็ยิ่งห่างไกล

บางคนเข้าใจว่าความสุข คือ ความรัก
จึงวิ่งไล่ความรัก
ยิ่งวิ่งไล่หาความรัก ยิ่งเหนือย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางคนเข้าใจว่า ความสุข คือ ความร่ำรวย
จึงวิ่งไล่หาความร่ำรวย
ยิ่งวิ่งไล่หาความร่ำรวย ยิ่งเหนือย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางคนเข้าใจว่า ความสุข คือ ความสำเร็จ
จึงวิ่งไล่หาความสำเร็จ
ยิ่งวิ่งไล่หาความสำเร็จ กลับ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางคนเข้าใจว่า ความสุข คือ ความสมบูรณ์แบบ
จึงวิ่งไล่หาความสมบูรณ์แบบ
ยิ่งวิ่งไล่หาความสมบูรณ์แบบ กลับ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางคนเข้าใจว่า ความสุข คือ ความเป็นอิสระ
จึงวิ่งไล่หาความเป็นอิสระ
ยิ่งวิ่งไล่หาความเป็นอิสระ กลับ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางคนเข้าใจว่า ความสุข คือ การเป็นที่ยอมรับ
จึงวิ่งไล่หาการเป็นที่ยอมรับ
ยิ่งวิ่งไล่หาความเป็นที่ยอมรับ กลับ ยิ่งเหนื่อย ยิ่งทุกข์
และ เหมือนหาไม่เจอ...สักที

บางครั้งการยิ่งวิ่งไล่ หาสิ่งที่(เราเข้าใจ) ว่าเป็นความสุข
กลับหาความสุขไม่เจอสักที
หรือ บางครั้งได้มา สักพักก็จากไป
ทิ้งให้เศร้าโศกเสียใจ

ดังนั้นความสุขทีแท้อยู่ไหน

ลองอ่านคำสอนจาก หลวงพ่อ ปราโมทย์ ปราโมทย์โช
ดังนี้ค่ะ

"เราเที่ยวหาความสุข
แต่เราไม่รู้จักว่าความสุขอยู่ที่ไหน
เราเอาความสุขของเราไปอิงอาศัยกับสิ่งอื่น
ไปอิงอาศัยกับคนอื่น
เช่น ไปอิงอาศัยกับเงิน
กับทรัพย์สมบัติ
คิดว่าถ้ามีมากๆ แล้วจะมีความสุข

มันไม่มีความสุขจริงหรอก
ยิ่งมีมากก็ยิ่งมีภาระมาก
เพราะความสุขที่อิงอยู่กับคนอื่น
อิงอยู่กับสิ่งอื่น เราต้องไปช่วงชิงมา
เขาไม่ให้ก็เสียใจ สูญเสียไปก็เสียใจ

เราไม่รู้จักความสุขที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง

เป็นความสุขที่เกิดจากสติ สมาธิ ปัญญา

ถ้าเราสามารถพัฒนาความสุขภายใน
ที่ไม่อิงอาศัยคนอื่น ไม่อาศัยสิ่งอื่น

ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ชีวิตก็มีความสุขอยู่ได้

แก่ก็แก่อย่างมีความสุข
เจ็บก็เจ็บอย่างมีความสุข
จะตายก็ตายอย่างมีความสุข

เรามีความสุขก็เพราะเรามีศีล
มีความสุขเพราะมีสมาธิ
มีความสุขเพราะมีปัญญา

ถ้าอยากได้ความสุข
ก็อย่าทอดทิ้งวิธีที่จะหาความสุขอย่างยอดเยี่ยมนี้"

จากคำสอนของท่าน หลวงพ่อปราโมทย์ ปราโมทย์โช
จะเห็นว่า ความสุขทีแท้ คือ ความสุขที่เกิดจากภายในตัวเราเองค่ะ



บทความโดย พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

Gone girl (เกมส์ซ่อนหาย) บางทีชีวิตจริงก็เป็นอย่างนี้..

ได้มีโอกาสอ่านนิยายเรื่อง Gone girl ชื่อไทยว่า เกมส์ซ่อนหาย

ไม่ขอวิจารณ์ในแง่หนัง หรือ บทประพันธ์นะคะ

(ไม่ได้สปอยล์เนื้อหาตอนจบคร่า)

และ ได้มีโอกาสเข้าไปอ่านความคิดเห็นของคนในพันธุ์ทิพย์
ที่ถกเถียงกัน ในแง่ไม่เข้าใจการตัดสินใจของพระเอก

เพราะ อะไรถึงตัดสินใจอย่างนั้น ?
บลา บลา.....

แต่พอมาย้อนนึกถึงชีวิตจริง

บางทีชีวิตจริงก็เป็นอย่างนี้นะคะ

รู้ทุกอย่าง... แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ -.-"

บางทีชีวิตจริงก็เหมือนตลกร้ายๆ เรื่องหนึ่ง
ที่ให้ความรู้สึกเจ็บๆแสบๆในใจ

แต่(เรา)ก็เลือกที่จะเป็นอย่างนั้น
ด้วยอะไรบางอย่าง.... ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า มันไม่เวอร์ค
^^"

ดังนั้น การเคารพการตัดสินใจของคนอื่น จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ถึงแม้ว่าเรามองว่า มันไม่เวอร์ค เอาซะเลย ที่เลือกชีวิตแบบนี้
เพราะ บางทีเราก็ไม่รู้ว่า ลึกๆ มันมีอะไร ที่ทำให้เขาเลือกแบบนั้น

และ เพราะ บางทีถ้าเป็นเรา ถ้าเราต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้น
ก็อาจเลือกไม่ต่างจากเขาเหมือนกัน  แม้รู้ว่า ไม่เข้าท่า ก็ตาม

#พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ได้เวลากลับบ้านใจ


เมื่อเหนื่อยล้า อย่าลืมกลับบ้านนะคะ

เมื่อเหนื่อยใจ อย่าลืมกลับบ้านใจค่ะ

การกลับบ้านใจ คือ

คือ การกลับมารับรู้ที่ใจ
รับรู้อะไรบ้าง
รับรู้ ความคิด ความรู้สึก ความคาดหวัง

วิธีการกลับบ้านใจดังนี้

กลับมารับรู้ว่า ขณะนี้คิดอะไร

กลับมารับรู้ว่า ขณะนี้รู้สึกอะไร

กลับมารับรู้ว่า ขณะนี้ คาดหวังอะไร ต้องการอะไร

การได้กลับบ้านใจบ่อยๆ

ทำให้หายเหนื่อย(ใจ)ได้บ่อยๆ

แม้ว่าอยู่กับคนเยอะๆ อยู่ท่ามกลางความวุ่นวายต่างๆ

ก็สามารถพักใจได้ โดยการกลับมาบ้านใจก่อน นะคะ

บทความโดย พญ. ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/Mamuangjungdotcom/photos/a.685850991443291.1073741830.603313313030393/1012170548811332/?type=1&theater



วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2558

เพราะอะไร “การยิ่งเร่งรัดอยากได้คำตอบ กลับยิ่งไม่ได้คำตอบ" ?

เรื่องบางเรื่องยากที่จะตัดสินใจ

แต่การยิ่งรีบ เร่งรัด อยากได้คำตอบ
กลับยิ่งไม่ได้คำตอบ
แต่กลับกลายเป็นสับสนมากขึ้น -.-"


หลายคนคงเคยมีประสบการณ์เช่นนี้

และในทางกลับกัน
เมื่อปล่อยให้จิตใจเกิดความสงบ ผ่อนคลาย
หรือ คิดมากจนปวดหัวเลย เลิกคิดดีกว่า...
จู่ๆ คำตอบกลับออกมาเอง

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

เหตุที่เป็นเช่นนี้ ประกอบจาก 2 ส่วนค่ะ
คือ 1) คุณภาพของจิตใจ
กับ 2) คุณภาพการทำงานของสมอง
เพราะ สมองกับจิตใจทำงานสัมพันธ์กัน
รายละเอียดดังข้างล่างนี้ค่ะ

1) ในแง่คุณภาพของจิตใจ

การยิ่งบีบคั้นเร่งรัดอยากได้คำตอบโดยเร็ว
ใจจะยิ่งวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ขาดสติ
มีแต่โทสะ
ความเข้าใจปัญหาที่แท้จริงหายไป
ความเชื่อมโยงกับโลกภายในของตัวเองหายไปจึงเข้าไม่ถึงความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง

สภาวะนี้ เป็นจิตใจที่ไร้คุณภาพ

โอกาสที่จะได้คำตอบยิ่งยากมากขึ้น
โอกาสที่จะตัดสินผิดพลาดยิ่งสูงขึ้น

การปล่อยให้ใจได้พบกับความสงบสักครู่หนึ่ง
......คำตอบจะออกมาเอง
อันเนื่องจาก เวลาทิ่จิตใจพบกับความสงบ มีสติ
จิตใจจะมีกำลังมากขึ้น
มีความมั่นคงมากขึ้น
มีความนุ่นนวล อ่อนโยน
การเชื่อมโยงกับโลกภายในของตัวเองจึงดีขึ้น
ความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆจึงมากขึ้น

เป็นจิตใจที่มีคุณภาพที่ดี

ทำให้เห็นสิ่งต่างๆได้ชัดขึ้น
จึงเป็นจิตใจที่เกิดปัญญาได้ดีขึ้น

2) ในแง่คุณภาพสมอง

ในขณะที่เคร่งเครียด เร่งรัด
คลื่นการทำงานของสมอง จะมีความถี่สูง และ ขนาดของคลื่นสมองตัวเล็กลง

ที่เรียกว่า "คลื่นบีต้า (beta wave)"

ซึ่งมีความถี่ประมาณ 13-40 รอบต่อวินาที
เส้นกราฟในสมองขณะที่เคร่งเครียด จะมีลักษณะขยุก ขยิก ยุ่งเหยิง สับสน มาก

ซึ่งเป็นคลื่นที่ไม่เหมาะสมกับการเรียนรู้หรือเข้าใจสิ่งต่างๆ
ยิ่งความถี่ของคลื่นสมองสูงเท่าไร

จิตใจของเราจะยิ่งสับสน วุ่นวายมากขึ้น โอกาสที่จะตัดใจผิดพลาดยิ่งสูงมากขึ้น
เพราะการทำงานของสมองในขณะนี้คุณภาพไม่ดีนัก

แต่ในช่วงเวลาที่จิตใจเกิดความสบาย สงบ ผ่อนคลาย
คลื่นความถี่ของสมอง จะมีความถี่ลดลงกว่าช่วงตึงเครียด
และ มีขนาดคลื่นที่โตกว่า เป็นระเบียบมากกว่า
ความถี่ประมาณ 8-13 รอบต่อวินาที

คลื่นชนิดนี้เรียกว่า "คลื่น แอลฟ่า(Alpha Wave)"

เส้นกราฟในสมองขณะที่จิตใจสงบ เยือกเย็นขึ้น
จะมีจังหวะที่ช้ากว่า มีขนาดคลื่นขนาดโตกว่า
คลื่นสมองมีความเป็นระเบียบมากกว่า
จึงเป็นคลื่นมีพลังงานมากกว่า

คลื่นสมองในช่วง แอลฟ่า นี้
จึงเหมาะกับการเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ดี เหมาะกับการตัดสินใจเรื่องต่างๆ
เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูง

ดังนั้น การตั้งสติ ละวางความกดดันบีบคั้นตัวเองลง
ปล่อยให้ใจได้ กลับมาเชื่อมโยงใจกับร่างกาย หรือ จิตใจ อย่างสงบ ผ่อนคลาย

เป็นตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้จิตใจ และ สมองมีคุณภาพการทำงานที่ดีขึ้น

ความเข้าใจในปัญหาต่างๆดีขึ้น
นำไปสู่การตัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆได้ดีมากยิ่งขึ้นค่ะ

ดังคำกล่าวของ อาจารย์เต่า อุกเว สอนฉีฟู่ ผู้เป็นศิษย์ในเรือง กังฟูแพนด้า
ดังนี้



“จิตใจคล้ายดั่งน้ำ เมื่อเกิดความวุ่นวาย มันยากที่จะมองเห็นสิ่งที่อ
ยู่ภายในได้ชัด
แต่ถ้าปล่อยให้นิ่งสงบลง คำตอบจะออกมาเอง”

“Your mind is like this water, my friend. When it is agitated, it becomes difficult to see. But if you allow it to settle, the answer becomes clear."
—Oogway to Shifu, Kung fu Panda
 

พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

เครดิตภาพ: 
http://www.daedtech.com/write-once-confuse-everywhere
http://kungfupanda.wikia.com/wiki/Moon_Pool#