วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วิเคราะห์ปมในใจตอนจบ ของ ซีรี่ส์ เรื่อง Squid Game


 

!!! Spoiler Alert !!!
แจ้งเตือนบทความนี้เปิดเผยส่วนสำคัญของซีรี่ส์ค่ะ

...................................................................................

จากซีรี่ส์เกาหลี เรื่อง Squid Game เกม เล่น-ลุ้น-ตาย
ซีรี่ส์ที่สร้างความรู้สึกลุ้น ระทึก โหด สะเทือนใจ สยองขวัญ กับ เกมโหด 6 ด่านที่ผู้เข้าร่วมเล่นเกม เข้าร่วมเพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาล
และ ถ้าเล่นแพ้ = ตายจริง
ด้วยกติกานี้ ทำให้ความสยองขวัญ สั่นสะเทือนใจ เศร้าหดหู่ และ ความรู้สึกผิด จึงเกิดขึ้นได้มากมายกับผู้เล่นตลอดการเล่นเกมนี้
เมื่อเกมนี้ได้ดำเนินมาถึงเกมสุดท้าย คือ เกมที่ 6
ชื่อ เกมว่า squid game ในที่สุดก็มีผู้ชนะ
ผู้ชนะที่สามารถรอดตาย ผ่านได้ทั้ง 6 ด่าน
และ ได้รับเงินรางวัลจำนวนสูงสุด
คือ 4.56 หมื่นล้านวอน หรือประมาณ 1,200 ล้านบาท
ซึ่งเป็นสุดยอดปรารถนาของผู้ที่เข้ามาร่วมเล่นเกมทุกคน
และ ในที่สุด เขา “ซองกีอุน” ได้มาจุดนั้น
เขาควรจะต้องดีใจ(มากๆ) และ มีความสุขอย่างที่สุด
แต่เมื่อเขาได้มาถึงจุดนี้แล้วจริง ๆ
สิ่งที่เกิดขี้น คือ
เขากลับไม่ได้รู้สึกดีใดๆ
เขาไม่ได้มีความสุขใดๆ
เขาไม่ได้แตะต้องเงินทองเหล่านี้
เขาใช้ชีวิตซังกะตาย
เขามีชีวิตอยู่ไปวันๆ
เขามีสีหน้าที่หาความสุขไม่เจอ
เขาไม่สนใจดูแลตนเอง
เขานั่งซังกะตาย
เขาไร้พลังชีวิต
เขาใช้ชีวิตเดียวดายดื่มเหล้าเคล้าความเศร้า

#เกิดอะไรขึ้นกับเขา ?
ภาวะที่เกิดขึ้นกับเขา
คือ อาการของความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (Survivor guilt)

🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂

#ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิตกับทฤษฎีทางจิตวิทยา

เราลองมาทำความรู้จักภาวะนี้
ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต(survivor guilt )
ในแง่มุมทางจิตวิทยา กันนะคะ
ภาวะนี้ได้ถูกบันทึกครั้งแรกในประวัติศาสตร์
จากจดหมายของผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์ทหารนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต พบได้ไม่น้อย สามารถพบได้ถึง ร้อยละ 30 ในจำนวนผู้รอดชีวิตทั้งหมด
อะไรที่ทำให้ผู้รอดชีวิตคนหนึ่งเกิดความรู้สึกผิดที่ตนเป็นผู้รอดชีวิต
ทั้งที่ลึกๆแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนกลัวตาย
ทุกคนต้องการมีชีวิตอยู่ ยิ่งในวินาทีที่คับขันต่อความเป็นความตาย ทุกคนต้องการที่จะมีชีวิตรอด
แต่อะไรที่ทำให้เขารู้สึกผิดเมื่อเขาได้กลายเป็นผู้มีชีวิตรอด และ รู้สึกอยากตายมากกว่าอยากจะมีชีวิตต่อไป
บางคนจะเฝ้าพร่ำบ่น หรือเฝ้าครุ่นคิดซ้ำๆว่า
ทำไมฉันถึงรอด? ในขณะที่คนอื่นตาย
หรือ ทำไมฉันไม่ได้รับบาดเจ็บ? ในขณะที่คนอื่นตาย หรือ พิกลพิการ
หรือ ทำไมฉันถึงไม่ทำอย่างนั้น ? เพื่อจะได้ช่วยคนอื่นได้
หรือ ทำไมฉันไม่ตายแทนคนนั้นไปซะ?
หรือ ทำไมเขาต้องมาตายแทนฉันด้วย?
ความรู้สึกผิดเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน เหล่านี้คือ เหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกนี้ได้ค่ะ
1. เขารู้สึกว่าตนเป็นสาเหตุหลักทำให้คนตาย
2. เขารู้สึกว่าตนได้ทำบางสิ่งบางอย่างผิดพลาดไป จนทำให้คนตาย หรือ บาดเจ็บ
3. เขาคิดว่าเขาน่าจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ เพื่อช่วยให้คนรอดได้ แต่ตอนนั้นเขากลับไม่ได้ทำ
จึงเกิดความรู้สึกผิดติดค้างในใจ
4. มีคนตายหรือบาดเจ็บเพื่อช่วยเหลือเขา หรือ ตายแทนเขา
5. เขาอยู่ในสถานการณ์ตัดสินใจช่วยบางคน และ ปล่อยให้บางคนตาย
ซึ่งทั้ง 5 ข้อที่กล่าวมา อาจเป็นเรื่องจริงที่เขามีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ
แต่หลายครั้งกลับพบว่าเป็นความรู้สึกที่เขาคิดไปเองเกินเหตุก็มี
6. บริบทของสังคม ที่กระตุ้นภาวะนี้
6.1 วัฒนธรรมในสังคม ที่ให้ความสำคัญ และเรียกร้องต่อการรับผิดชอบต่อส่วนรวม
6.2 มีแรงกดดัน ตำหนิติเตียน จากคนรอบข้าง จากคนในสังคม
. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ในทางจิตวิทยา ไม่ใช่ทุกคนจะมีความรู้สึกผิดได้ บุคคลที่จะมีความรู้สึกผิดได้ต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานดังนี้
1. คนที่มีคุณธรรม (moral)
คนที่มีคุณธรรมเท่านั้นถึงจะมีความรู้สึกผิด
ในทางตรงข้าม คนที่ไม่มีคุณธรรมไม่ว่าทำอะไรลงไป เดือดร้อนคนอื่นแค่ไหน ไม่มีทางที่เขาจะรู้สึก รู้สึกผิดได้เลย เนื่องการพัฒนาทางจิตใจมาตั้งแต่วัยเด็กทำให้เกิดความบกพร่องที่จุดนี้ จึงไม่สามารถรู้สึกผิดบาปหรือละอายใจกับการกระทำผิดของตนได้
เพราะ ความรู้สึกผิดจะแปรผันตามกับเรื่องการมีคุณธรรมประจำใจ ถ้ายิ่งมีคุณธรรมประจำใจมาก ความรู้สึกผิดก็ยิ่งมีปริมาณมาก
2. เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ (responsibilty)
ต่อพฤติกรรมของตน
รวมถึงมีจิตสำนึกในผลจากการกระทำของตนต่อส่วนรวม (accountability)
3. เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องช่วยคนอื่น (altruism)
ตามปกติทุกคน พัฒนาการทางจิตใจวัยเด็กแรกเกิดของชีวิต จะมีลักษณะนึกถึงตนเอง ยึดตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง
แต่เมื่อเด็กๆได้เติบโตมีการเลี้ยงดูที่ดี จะมีพัฒนาการที่ดีและเหมาะสมมากขึ้น ความรู้สึกนึกถึงตนเองจะลดลงและพัฒนาเป็นความรู้สึกนึกถึงคนอื่นได้มากขึ้น จึงทำให้เกิดอยากช่วยคนอื่นและอยากเสียสละเพื่อผู้อื่น
ซึ่งอย่างเหตุการณ์เรือล่ม จะเห็นว่า มีฮีโร่มากมายที่ยอมเสียสละตนเอง
(บางคนถึงกับเสียชีวิต) เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้รอดชีวิต
4. เป็นคนที่สามารถเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ (empathy)
คนที่สามารถรับรู้และเข้าใจความทุกข์ ความเจ็บปวด ของผู้อื่นได้ เมื่อเห็นคนที่มีความลำบาก จะกระตุ้นความอยากช่วยเหลือของเขา
ซึ่งความรู้สึกผิดเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .

แต่คนที่จะมีความรู้สึกผิดได้มากจนเกิดโทษคือ
1. เกิดจากบุคลิกที่ชอบตำหนิตัวเอง (self- criticism)
ในคนที่มีบุคลิกชอบตำหนิตัวเอง มักมีแนวโน้ม เพ่งโทษตัวเอง เห็นข้อลบของตนเองอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นมักหันเข้ามาคาดโทษ และ ตำหนิตนเองไว้ก่อน
2. คนที่ให้อภัยตนเองได้ยาก มีระดับการมีคุณธรรมที่รุนแรงมากเกินไป จนไม่เหมาะสม จึงไม่สามารถให้อภัยตนเองได้เลย
3.เป็นคนขาดความยืดหยุ่น เช่น ถ้าดีก็ต้องดีทั้งหมด ไม่ควรมีอะไรผิดเลย ถ้ามีผิดไปนิดนึงจะแปลว่าเลวร้ายไปทั้งหมด คือ มีลักษณะมองอะไร เป็นขาวหรือดำเท่านั้น ไม่สามารถมองอะไรเป็นสีเทาๆได้

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
ผลจากความรู้สึกผิดที่มีปริมาณมากเกินไป
ส่งผลเสียได้อย่างมาก
1. อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือ โรควิตกกังวล ได้
2. ไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ต้องการลงโทษตัวเอง
ในบางคนที่แม้ไม่ได้กลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกังวล
แต่ไม่สามารถมีความสุขในชีวิตตนเองได้อีกเลย บางคนจะมีความสุขก็รู้สึกละอายใจ
จึงต้องทำให้ตนเองรู้สึกทุกข์ใจตลอด หรือทำให้ชีวิตตนเองตกต่ำอยู่ตลอด ไม่อยากเห็นตนเองดีขึ้น หรือ ก้าวหน้า เพราะ ยังรู้สึกผิดอยู่ ใช้ชีวิตไปอย่างไม่ใยดีตนเอง เพื่อชดเชยความผิด
3. พยายามฆ่าตัวตายเพื่อชดเชยความผิดนั้น

🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂

#เมื่อผู้ชนะกลายเป็นคนไร้สุข

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ ซองกีอุน

1. เขาเกิดภาวะซึมเศร้า ใช้ชีวิตไปวันๆ หมดอาลัยตายอยาก สีหน้าหาความสุขไม่เจอ ไร้พลังชีวิต หมดเรี่ยวแรง
2. เขาไม่อนุญาตให้ตนเองมีความสุข ต้องการลงโทษตัวเอง ในที่นี้จะเห็นว่า ซองกีอุน ไม่นำเงินออกมาใช้แม้สักวอนเดียว จนเจ้าหน้าที่ธนาคาทักท้วง เขานอกจากจะไม่นำเงินมาใช้ ยังไปขอยืมเงินเจ้าหน้าที่ธนาคารอีก
และ ใช้ชีวิตให้ตนเองแย่ๆ ไปวันๆ ไม่ดูแลตนเอง
3. และบางทีในใจลึกๆ เขาอาจอยากให้ชีวิตตนเองจบลง ด้วยการไม่ดูแลตนเอง พร้อมกับการดื่มสุราทุกวัน นอกจากการหนีทุกข์ชั่วคราวจากฤทธิ์เหล้า อีกนัยยะคือการบ่อนทำลายตนเอง

🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂
#แนวทางการดูแลรักษาในทางการแพทย์
ภาวะนี้ในทางการแพทย์ มีแนวทางการดูแลรักษาดังนี้
1. เข้าใจและยอมรับความรู้สึกผิดเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ (normal reaction) เมื่อเกิดการสูญเสีย เพราะบางคนกลายเป็นว่ารู้สึกผิด ที่ตนเองที่รู้สึกผิด
การยอมรับความรู้สึกได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
2. ให้เวลาใจที่จะรู้สึกศร้าเสียใจ ไม่ควรปฏิเสธความรู้สึกเศร้าเสียใจ
3. พูดคุยกับผู้อื่น เพราะการเก็บตัว ไม่พูดคุยใครจะยิ่งทำให้อาการแย่มากขึ้น
4. แบ่งปันความรู้สึกกันกับคนใกล้ตัว เช่น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ คนที่รู้สึกสนิทใจเป็นต้น
5. ร่วมกิจกรรม เช่นการไปร่วมพิธีศพ
ได้บอกกล่าวอะไรที่อยากบอกกับผู้เสียชีวิต หรือ ญาติ
เช่น การขอโทษ... หรือ การขอบคุณ.....
6. เปลี่ยนความรู้สึกเป็นด้านบวก
- การทำงานอาสาสมัครต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ช่วยให้ลดความรู้สึกผิดได้ และ กลับมาเห็นคุณค่าในตนเองได้
- มองว่าความผิดนั้นเป็นการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทเรียนที่มีค่าอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะช่วยให้การใช้ชีวิตต่อไปดียิ่งขึ้นทั้งต่อตนเอง ต่อคนครอบครัว และต่อสังคม
7. ใคร่ครวญอย่างมีสติ ว่าเรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปหรือเปล่า
บางที สิ่งที่เรามองว่าตนผิด จนเกิดความรู้สึกเจ็บปวดทุกข์ใจอย่างมหาศาล อาจมีความจริงแค่เล็กน้อย ที่เหลือ เรามโนใส่ร้ายตัวเองมากไปก็เป็นได้ค่ะ
8. ข้อนี้สำคัญที่สุด คือ การให้อภัยตนเอง และ เริ่มต้นชีวิตใหม่
มีผู้กล่าวไว้ว่า “การที่ให้อภัยตนเองไม่ได้ คือ การหลงตนเองชนิดหนึ่ง”
ซึ่งเป็นความจริง เพราะเราหลงตัว ว่าเราจะทำผิดอะไรไม่ได้เลย เราจึงไม่สามารถให้อภัยตัวเองได้
เพราะในความจริง คนเราทุกคน ล้วนทำผิดได้ ความผิดพลาดเป็นเรื่องของมนุษย์
เราเองเป็นคนๆหนี่ง เมื่อคนอื่นทำผิดได้ เราก็ผิดได้เช่นกัน
และ ฝึกที่จะให้อภัยตัวเอง และ เริ่มต้นใหม่ ด้วยชีวิตที่ดีขึ้นเพราะเราได้มีบทเรียนดีๆสอนใจเราแล้ว

. . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . . .
#ความจริงสำคัญของความรู้สึกผิด
ความรู้สึกผิดเป็นสิ่งที่มีคุณค่า
เพราะทำให้เกิดการแก้ไข นำมาสู่สิ่งที่ดีกว่า

ตรงข้ามกับการที่ไม่มีความรู้สึกผิด
จะมีแต่การแก้ตัว กล่าวโทษคนอื่น ทะเลาะกัน เต็มไปด้วยความวุ่นวายและทำร้ายกันค่ะ

แต่ความรู้สึกผิดที่มากเกินไป
ไม่ทำให้เกิดประโยชน์อะไรได้เลย
นอกจากการทำลายสิ่งต่างๆให้เลวร้ายมากขึ้นไปอีก

ดังนั้น การมี “สติและความเมตตาต่อตนเอง” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ

🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂 🙂

#เขาฟื้นคืนชีพได้อย่างไร
ในตอนท้าย ซองกีอุน ได้กลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง
1. การได้คุยกับคุณลุงโออิลนัม
(แม้จะเป็นการสนทนา ที่เต็มไปด้วยการโกรธแค้น)
แต่มีนัยยะแฝงการเยียวยาจิตใจ
เพราะ ลุงโออิลนัม เป็นคนเดียวที่เขาสามารถพูดเรื่องเหล่านี้ได้อย่างหมดใจ หมดเปลือกแบบไม่ต้องกั๊กไว้
เพราะ ในสถานการณ์นี้ ก่อนหน้านี้เขาไม่สามารถเล่าหรือระบายให้ใครฟังได้เลยสักคนในโลกนี้
ความรู้สึกนี้จึงอัดอั้นตันใจอยู่กับเขาอย่างมากมาย
เมื่อวันที่เขาได้พูดคุยกับลุงโออิลนัม ความรู้สึกต่างๆ ความคิดต่างๆ ความต้องการต่างที่อัดอั้น ก็มีระบายออกมาอย่างเต็มที่ พรั่งพรู
แบบไม่ต้องยั้ง
ทำให้เขาได้กลับมารับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความรู้สึกผิด ความโกรธ ความแค้น ความเสียใจ ความเจ็บปวด
การได้พูดออกมาให้ใครสักคนที่รับฟัง การได้กลับมารับรู้ความรู้สึกต่างๆที่อัดแน่นทับถามภายใน การได้ระบายมันออกมา
และ เป็นต้นทางของการเยียวยาใจที่สำคัญ

2. ได้ลงมือทำกิจกรรมที่เป็นการกระทำด้านบวก
เขาได้นำเงินออกมาทำประโยชน์กับครอบครัวที่ตนได้รับปากว่าจะดูแล เช่น ครอบครัวของโจซังอู และ คังแซบยอก การได้ลงมือช่วยเหลือดูแลคนอื่น เป็นการเยียวยาอาการนี้ได้ดีมากดังที่ได้กล่าวข้างต้น

3. การบอกได้กล่าวกับญาติของผู้เสียชีวิต
การได้พูดคุยกับน้องชายของคังแซบยอก ว่าพี่สาวที่จากไปของเขามีความปรารถนาอย่างไร
การได้ฝากข้อความคุณแม่ของโจซังอูว่า “เขานำเงินที่ยืมจากโจซังอูมาคืน”
เป็นนัยยะของการกล่าวขอโทษ และ การกล่าวขอบคุณโจซังอู
ซึ่งเป็นความรู้สึกที่มีความหมายต่อใจที่เขาได้มีโอกาสได้บอกออกมา (แม้จะพูดได้แบบอ้อมๆก็ตาม)

4. การให้อภัยตนเอง และ เริ่มต้นชีวิตใหม่
เขาได้ตั้งใจกลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่
ตั้งแต่การเปลี่ยนทรงผมที่ดูสดใสมากขึ้น
การกลับมาดูแลตนเอง เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน
และ การตั้งใจจะกลับไปหาลูกสาวที่ต่างประเทศ

ซึ่งจะเห็นได้ว่า เขาเริ่มกลับมามีพลังชีวิตอีกครั้งหลังจากจมกับความรู้สึกผิด จมกับบาดแผลในใจมา 1 ปีเต็ม

#การตัดสินใจสุดท้ายของเขาเกิดจากอะไร
5. และ ตอนท้ายที่สุดของเรื่องซองกีอุน จะหวนกลับเข้าสู่ squid game อีกครั้ง ซึ่งคาดว่า อาจจะเป็นต้นกำเนิดในเรื่องราวในภาคต่อไป
และ สิ่งที่น่าสนใจในทางจิตวิทยา
อะไรทำให้เขาตัดสินใจแบบนั้น

ในบางครั้ง ผู้รอดชีวิตยังคงมีความรู้สึกผิดติดค้างในใจ และ ยอมรับมันไม่ได้ทั้งหมด
และ วิธีหนึ่งที่เขาเข้าใจว่าจะช่วยล้างความรู้สึกผิดนี้ได้
คือ การได้ล้างแค้นแทนคนที่ตายไปเหล่านั้น
------------------------------------------------------
#บทส่งท้าย
"ภายใต้การล้างแค้น
ภายใต้การโกรธคนอื่น
ภายใต้การลงโทษผู้อื่น
นอกจากการผดุงความเป็นธรรมแล้ว
อาจมีความรู้สึกผิดซ่อนอยู่"

บทความโดย ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล

#วิเคราะห์ #ปมในใจ #Squid #Game